ยามุ่งเป้า ทางเลือกใหม่ของการรักษามะเร็ง

ยามุ่งเป้า ทางเลือกใหม่ของการรักษามะเร็ง

โดย นพ.วรเศรษฐ์ สายฝน

ปัจจุบันการรักษามะเร็งวิวัฒนาการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การศึกษาพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งทำให้ค้นพบว่าเซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลต่อการส่งสัญญาณการแบ่งตัวภายในเซลล์ (Signal transduction pathway) ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้เองอย่างไม่จำกัด มีความสามารถในการสร้างหลอดเลือดมาเลี้ยงตัวเอง สามารถหลบหลีกการถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถมีความสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ ได้

ความสามารถพิเศษเหล่านี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิดซึ่งส่งผลต่อการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ที่ควบคุมการแบ่งตัวของมะเร็ง โดยมะเร็งแต่ละชนิดมีการกลายพันธุ์ของยีนต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เมื่อนักวิจัยสามารถศึกษาจนค้นพบว่า กลไกใดสำคัญต่อมะเร็งชนิดใด จึงสามารถพัฒนายามายับยั้งกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์นั้น ๆ ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายลงได้ในที่สุด จึงเรียกยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงในกลไกการแบ่งตัวที่ถูกรบกวนเหล่านี้ว่า ยามุ่งเป้า (Targeted therapy)

โดยยามุ่งเป้าในปัจจุบันจะมีชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ และชนิดที่ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดเป็นหลัก

 

ความแตกต่างระหว่างยามุ่งเป้าและยาเคมีบำบัด

  • ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายโดยตรง โดยอาจส่งผลต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็ว
  • ยามุ่งเป้ามักมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
  • ยามุ่งเป้าใช้ได้เฉพาะในมะเร็งบางชนิดและต้องตรวจพบยีนกลายพันธุ์ที่เข้าได้กับยามุ่งเป้านั้น ในส่วนของยาเคมีบำบัดไม่ต้องตรวจการกลายพันธุ์ของมะเร็งก่อน

 

รูปแบบของยามุ่งเป้า

  • มีทั้งรูปแบบยากิน (Tyrosine kinase inhibitors) และยาฉีด (monoclonal antibody)
  • มีทั้งการใช้เป็นยาชนิดเดียวและการใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

 

ประโยชน์ของยามุ่งเป้าในการรักษามะเร็ง

  • เพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดได้อย่างชัดเจน
  • ทำให้เซลล์มะเร็งเป้าหมายยุบลงได้
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้า

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่

  • อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลักษณะคล้ายสิว ผิวหนังแห้ง คัน
  • อาการทางเล็บ เช่น จมูกเล็บอักเสบ
  • อ่อนเพลีย
  • ปาก/คออักเสบ
  • ความดันโลหิตสูง

โดยผลข้างเคียงจากยาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยาที่ใช้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ

 

ขั้นตอนการใช้ยามุ่งเป้ารักษามะเร็ง

  • แพทย์จำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อมะเร็งส่งตรวจพันธุกรรม
  • หากตรวจพบการยีนพันธุ์ที่เข้าได้จึงมีโอกาสใช้ยามุ่งเป้าได้

 

ข้อจำกัดการใช้ยามุ่งเป้า

  • มีการใช้เฉพาะในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น
    • มะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR หรือชนิด ALK
    • มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดยีน HER2 amplification
    • มะเร็งลำไส้
    • มะเร็งจิสต์ (GIST)
    • มะเร็งต่อมลูกหมาก
    • มะเร็งตับ
    • มะเร็งต่อมไทรอยด์
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
  • ใช้ได้ผลเมื่อตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนเป้าหมายที่จำเพาะเท่านั้น
  • ข้อมูลส่วนใหญ่ใช้ในการรักษามะเร็งในระยะแพร่กระจาย
  • ยามีราคาสูง มีข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายได้เฉพาะในบางสิทธิ์การรักษา
  • หลังจากใช้ยาไประยะหนึ่ง มะเร็งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์รูปแบบใหม่หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆซึ่งส่งผลให้ดื้อต่อยามุ่งเป้าชนิดเดิมได้

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกโรคมะเร็ง

  • โทร 02 849 6600 ต่อ 2632-2633

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]