มะเร็งปอด

มะเร็งปอด

นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา)

มะเร็งปอดคืออะไร

มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น adenocarcinoma ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก

 

อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร

อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้นสำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ

 

สาเหตุของมะเร็งปอด

  1. การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน เป็นระยะเวลา 20 ปี เท่ากับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า
  2. มีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอด ในประเทศไทยที่พบได้บ่อย เช่น ยีน EGFR, ALK
  3. สำหรับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
  4. สาเหตุอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด เช่น แร่ใยหิน ควันถ่านหิน ประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง

 

มะเร็งปอดอันตรายแค่ไหน

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2565 มะเร็งปอดพบได้เป็นอันดับ 2 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมะเร็งอันดับ 2 ของคนไทย แต่การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว และ มีอัตราตายสูง

 

วิธีการรักษามะเร็งปอด

วิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดอาจมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและระยะของโรค ได้ดังนี้

ระยะที่ 1 และ 2 ระยะที่พบว่าเซลล์มะเร็งอยู่ในปอดและมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด

ใช้วิธีการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อประเมินว่าเป็นเซลล์ชนิดใด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีการรักษาเสริมด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเริ่มออกมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอก

อาจมีการรักษาหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแล้วต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทาน รวมไปถึงการใช้รังสีรักษา ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักจะเป็นการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา อาจมีการรักษาต่อด้วยยากระตุ้มภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วยได้

ระยะที่ 4 ระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง

ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะแพร่กระจายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และยืดระยะเวลาการรอดชีวิต การรักษาหลัก ๆ จะมีการใช้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิคุ้มกัน หรือมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ความเหมาะสมกับชนิดของเซลล์มะเร็งปอดแต่ละชนิด และที่สำคัญขึ้นกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย เนื่องจากยาแต่ละชนิดก็จะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป

 

มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร

  1. งดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่
  2. ดูแลและสังเกตอาการผิดปกติเป็นประจำ มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  3. ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะและสารอาหารครบ 5 หมู่
  5. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยง ด้วยวิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ

ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่คนที่อายุ 50 ปี และมีประวัติเคยสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack-yrs วิธีคิดหน่วย pack-yrs นำจำนวนบุหรี่ที่สูบเป็นซองต่อวัน คูณจำนวนปีที่สูบ

 

คำแนะนำอื่น ๆ

การรักษามะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด ในปัจจุบันต้องบอกว่ายารักษาโรคมะเร็งปอดแต่ละชนิด มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากสามารถที่จะช่วยบรรเทาอาการและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก เราสามารถตรวจความผิดปกติของยีนกลายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งและสามารถให้การรักษาแบบตรงจุด หรือแบบมุ่งเป้าซึ่งประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด และยังมียาใหม่ๆ ที่ได้ผลดีมาก ในการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาเคมีบำบัด เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน  หรือยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง