โรคภูมิแพ้ ให้แผนไทย ช่วยดูแล

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

ปัจจุบันโรคภูมิแพ้เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังของประชากรทั่วโลกตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (Lai et al., 2012) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ขยะ น้ำเน่าเสีย สารพิษ ย่อมกระตุ้นให้มีอาการของโรคหนักขึ้นมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม (Diana and Martin, 2016)

โรคภูมิแพ้ หรือ โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากการแพ้ (allergic rhinitis) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) แล้วมีการปล่อยสารเคมี เช่น ฮิสตามีน (histamine) พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ไซโตไคน์ (cytokine) เป็นต้น โดยสารเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดกลไกการอักเสบที่บริเวณโพรงจมูก ทำให้มีอาการแสดง ได้แก่ จาม น้ำมูกใส คันในจมูก หายใจลำบาก ในรายที่เป็นมากอาจส่งผลต่อการนอนหลับ อ่อนเพลีย สมาธิสั้น ตามมาด้วย ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากการแพ้ เริ่มจากสังเกตตัวเองว่าแพ้อะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยง หมั่นทำความสะอาดบ้านและเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมภูมิต้านทานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีอาการน้ำมูกไหลมากขึ้นหรือไอจนเหนื่อย แนะนำให้ใช้ยารับประทาน ได้แก่ ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) รุ่นแรก เช่น คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) หรือไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางให้เกิดการง่วง และมียาต้านฮิสทามีนรุ่นใหม่ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายารุ่นแรก เช่น ลอราทาดีน (loratadine) (Diana and Martin, 2016)

สำหรับทางการแพทย์แผนไทย โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มอาการทางธาตุน้ำ อันมาจากการควบคุมของศอเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดบริเวณลำคอ ถ้าศอเสมหะกำเริบโดยมากจะเกิดช่วงเช้า ก่อให้เกิดอาการ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล โดยยาปราบชมพูทวีป เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัดระยะแรก และอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อากาศ เมื่อวิเคราะห์คุณสมบัติแต่ละตัวยาของตำรับยาปราบชมพูทวีปทั้ง 23 ชนิด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรรสร้อน ช่วยลดการกำเริบของธาตุน้ำ  ช่วยลดการอักเสบ รวมถึงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Limpaphayom and Laohakunjit, 2014) จากรายงานการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ยาปราบชมพูทวีปขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานทุกวันวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 2 แคปซูล กับยาลอราทาดีนขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 7 วัน ในผู้ป่วยภูมิแพ้ 62 คน (เพศชาย 17 คน เพศหญิง 45 คน) พบว่ายาปราบชมพูทวีปให้ประสิทธิผลการรักษาไม่แตกต่างจากยาลอราทาดีน (P>0.01) (Onthong et al., 2019) จึงมีความเป็นไปได้ว่า สามารถใช้ทดแทนกันได้ตามความต้องการของผู้ป่วย สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพร นับเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาที่ได้รับความนิยม มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการอบสมุนไพร ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศจำนวน 64 ราย โดยให้กลุ่มตัวอย่างรับการอบสมุนไพรวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ และประเมินระดับความรุนแรงของอาการภูมิแพ้ด้วย visual analog scale พบว่า ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้อากาศลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น (Tungsukruthai et al., 2017)

อย่างไรก็ตามถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุ เพื่อการดูแลตัวเองให้เหมาะสม

 

บรรณานุกรม

Diana, S.C., and Martin, K.C. 2016. Allergic rhinitis: impact, diagnosis, treatment and
management. The pharmaceutical journal 8; 8.
Lai, J., Clark, M., Parkes, R., and Blum, H. 2012. Pharmaceuticals for beginners. European

Pharmaceuticals: 195-196.

Limpaphayom, V., and Laohakunjit, N. 2014. Chemical Compositions and Antioxidant Activity
          of Zingiber officinale Roscoe Essential oils. KMUTT Research and Development
          Journal 37; 3: 297-312.

Martin, K.C., and Diana, S.C. 2013. Pharmacology of Antihistamines. Indian Journal of
          Dermatology 58; 3: 219-24.
Onthong, N., Chonpatathip, U., Rajanivat, Y., Patthananurak, K., Sangvichien, S., and

          Kamoltham, T. 2019. A Comparative Study on the Effects of Prabchompoothaweep
          Remedy and Loratadine in Treatment of Patients with Allergic Rhinitis and Upper
          Respiratory tract Infections at Pathumtani Hospital. Journal of Health Education 42; 1:
          135-145.
Tungsukruthai, P., Nootim, P., Wiwatpanich, W., and Tabtong, N. 2017. Efficacy and safety of
          herbal hot steam bath in allergic rhinitis: a randomized controlled trial. Journal of
          integrative medicine 16; 1: 39-44.

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง