ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID

โดย พท.ป. วรรณดี ชิตเจริญธรรม

พจ. ธีรวุฒิ ชาญศิริเจริญกุล

และพจ. ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์

กลุ่มอาการ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 กล่าวไว้ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด (COVID – 2019) อาการลองโควิดโดยส่วนใหญ่เริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน มีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ระยะเวลาของอาการส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน และกลุ่มอาการมีความหลากหลายและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต โดยมักพบมีอาการภายหลังการติดเชื้อ 4-12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และ/หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ลักษณะอาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ เครียดหรือวิตกกังวล ความจำสั้น เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี เป็นต้น

สำหรับศาสตร์การแพทย์ทางเลือกทั้งทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีนมีมุมมองต่อการฟื้นฟูสุขภาพในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID หลังการติดเชื้อจะทำให้สมดุลในร่างกายถูกกระทบ ดังนี้

  • แนวคิดทางการแพทย์แผนไทย คือ หลังจากร่างกายได้รับเชื้อโควิด-19 จะกระตุ้นให้เกิดอาการปิตตะกำเริบ(ธาตุไฟ) จากภาวะร่างกายที่มีความร้อนมากขึ้นทำให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวร้อนในและมีไข้ แล้วส่งผลกระทบกับเสมหะ(ธาตุน้ำ) จึงมีเสมหะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล และกระทบวาตะ(ธาตุลม) เป็นตัวสุดท้าย ทำให้มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส และเมื่อมีการเจ็บป่วยเป็นระยะเวลานานจะทำให้สมดุลธาตุในร่างกายถูกกระทบส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง
  • แนวคิดทางการแพทย์แผนจีน คือ สภาวะร่างกายที่เกิดการติดเชื้อแล้วกระตุ้นร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดขาว ไปต่อสู้กับเชื้อโรคจึงทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายหรือการรับประทายาฆ่าเชื้อไวรัสทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น เนื่องจากกระทบการทำงานหลายๆ ระบบ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย

การฟื้นฟูสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีดังนี้

  1. การใช้ยาสมุนไพรตามกลุ่มอาการ ได้แก่
  • อาการเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิต อ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดศีรษะ ใช้ตำรับยาหอม เช่น ยาหอมนวโกฐยาหอมเทพจิตร
  • อาการไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย เช่น ยาฟ้าทะลายโจร
  • อาการครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกร้อนตามร่างกาย เช่น ยาประสะจันทน์แดง ยาจันทลีลา ยาเขียวหอม
  • ไอ ระคายคอ มีเสมหะ เช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาประสะมะแว้ง ยาอำมฤควาที
  • อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ เช่น ยาธาตุบรรจบ ยาตรีผลา
  • อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ อาการชา เช่น ยาเถาวัลย์เปรียง ยาสหัศธารา ยาหม่องไพล
  1. การสุมยา คือ การรักษาโดยการสูดไอน้ำจากสมุนไพรที่ผ่านการต้ม ความร้อนชื้นจากไอน้ำเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ ในการช่วยขยายหลอดลมทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และกลิ่นหอมของสมุนไพรจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวลได้อีกด้วย เช่น หอมแดง มะกรูด ตะไคร้ กระชาย ขิง เป็นต้น
  2. ใช้หลักกายานามัย (HEALTHY BODY) ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางกายที่ดี โดยการออกกำลังกาย
    ให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยใช้ท่าบริหารฤาษีดัดตนในการช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ส่งผลให้อาการปวดตึงกล้ามเนื้อลดลง และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากภาวะความเครียด

ตัวอย่างท่าบริหารฤาษีดัดตนที่ใช้ในการฟื้นฟูในภาวะ Long COVID เช่น ท่าแก้เสมหะในลำคอ

วิธีทำท่าบริหาร นั่งท่าขัดสมาธิยืดหลังตรงใช้มือขวาจับข้อเท้าซ้าย มือซ้ายวางไว้ที่หลังใบหูซ้ายข้างท้ายทอยและยกศอกซ้ายให้ตั้งฉากกับลำตัว หายใจเข้าลึกๆ พร้อมทั้งใช้มือซ้ายดันให้หน้าหันไปทางขวาให้มากที่สุดจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง นิ่งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ หายใจออกผ่อนมือที่ดันไว้ลงพร้อมทั้งหันหน้ากลับตามเดิม นับเป็น 1 ครั้ง ให้ทำสลับข้าง โดยทำซ้ำ 4-5 ครั้ง

ประโยชน์ของท่าบริหาร ช่วยทำให้เสมหะที่โคนลิ้นไหลลงลำคอ จึงลดอาการเสมหะติดคอและบริหารกล้ามเนื้อแขน

จากทฤษฎีการแพทย์แผนไทยที่กล่าวว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ
ธาตุลม และธาตุไฟ เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายมีความสมดุลก็จะไม่เจ็บป่วย หากธาตุทั้งสี่ในร่างกายเสียสมดุล
ก็จะเกิดความเจ็บป่วยหรือเกิดโรคขึ้น ดังนั้นการฟื้นฟูสุขภาพในมุมมองทางการแพทย์แผนไทยจึงเปรียบเสมือนการดูแลรักษาสมดุลของธาตุทั้งสี่ให้กลับมาเป็นปกติ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง

การฟื้นฟูสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีดังนี้

แนวคิดทางการแพทย์แผนจีนเน้นรักษาที่คน ไม่ใช่รักษาที่โรค มีคำกล่าวว่า “การแพทย์สมัยใหม่รักษาโรค การแพทย์แผนจีนรักษาคน” การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญที่รักษาคนไข้เน้นที่ร่างกาย (คน) เป็นหลัก จะเสริมบำรุงพลังพื้นฐาน (เจิ้งซี่) ทำให้การต่อสู้กับโรคดีขึ้นและการขับสิ่งก่อโรค (เสียซี่) แต่เป้าหมายการขจัดสิ่งก่อโรคก็เพื่อให้ร่างกายสามารถใช้กลไกศักยภาพของตนเองสู่การทำงานที่ปกติหรือสมดุล

ข้อมูลจากคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของแพทย์แผนจีน ได้มีการกล่าวไว้ว่าการดูแลตนเองแบบ Preventionหรือการป้องกัน มี 3 กรณี ดังนี้

  • ยังไม่ป่วย แต่ต้องป้องกันก่อนเกิดโรค
  • เมื่อป่วยแล้ว ต้องรีบรักษาป้องกันไม่ให้โรครุนแรง
  • เมื่อหายป่วยแล้ว ต้องรีบฟื้นฟูป้องกันไม่ให้โรคกำเริบหรือกลับมาอีก

เมื่ออาการดีขึ้นบทบาทของยาก็ยิ่งน้อยลงตามลำดับ ดังนั้นในยามปกติการดูแลสุขภาพจึงให้ความสำคัญที่ใช้อาหารเป็นยาและการดูแลตนเองด้วยหลายหลากวิธี รวมถึงการดำเนินชีวิตตามวิถีทางธรรมชาติง่ายๆโดยสังเขป ดังนี้

  1. เสริมโภชนาการ ด้วยเมนูอาหารฟื้นฟูร่างกาย

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดๆ มันๆ หรือ อาหารย่อยยากในช่วงแรกเนื่องจากหลังจากเจ็บป่วย
ม้ามและกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง หากทานอาหารที่ย่อยยากจะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารฟื้นตัวยาก ลมปราณจะยิ่งติดขัดและทำให้โรคกำเริบได้ง่าย สามารถเลือกใช้สมุนไพร ได้แก่

  • ตั่งเซิน (党参) 10 กรัม
  • หวงฉี หรือ ปักคี้ (黄芪) 10 กรัม
  • ไป่เหอ หรือ แปะฮะ (百合) 20 กรัม
  • เหลียนจื่อ หรือ เม็ดบัว(莲子) 20 กรัม

นำสมุนไพรทั้งหมดมาปรุงเป็นน้ำซุป ช่วยบำรุงชี่ปอดและม้าม หรือใส่เนื้อสัตว์เพิ่ม เช่น กระดูกหมู
หากทำเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานสดชื่นชุ่มคอ ก็สามารถตุ๋นสมุนไพรร่วมกับน้ำตาลกรวด อาจเพิ่มลูกเดือย และเปลือกส้มเล็กน้อย เพื่อช่วยขับเสมหะสลายความชื้นด้วยก็ได้ สามารถรับประทานได้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ทานได้ต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน

      2. การออกกำลังกาย สามารถเลือกออกกำลังกายช่วยฝึกพลังแบบจีนโบราณ เช่น รำไทเก็ก รำชี่กง
รำปาต้วนจิ่ง เป็นต้น สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานแนะนำเลือกเป็นการฝึกปาต้วนจิ่ง เนื่องจากท่าง่ายและทำได้ทุกเพศทุกวัย เช่นท่า “双手托天理三焦” ท่าสองมือประครองแผ่นฟ้า จะเป็นการเคลื่อนไหวแขนร่วมกับการขยับซี่โครงให้สูงขึ้น ขยายทรวงอก ยืดกระดูกสันหลัง ยืดกล้ามเนื้อหน้าท้องและประสานกับการหายใจ ซึ่งช่วยปรับสมดุลปอดและม้ามปรับการทำงานของระบบทางเดินหายใจและการทำงานของระบบย่อยอาหาร

   3. การฝังเข็ม และการนวดทุยหนา การฝังเข็มเป็นการปรับสมดุลในร่างกาย เพราะภาวะลองโควิด ทำให้ร่างกายเกิดความชื้น หรือความร้อนสะสมในร่างกาย ทำให้ลมปราณหรือเลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี จึงทำให้เกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ ปวดหัว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย หายใจไม่เต็มอิ่ม หรือภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ไม่ดี ซึ่งจุดฝังเข็มรักษานั้นมีหลายจุดขึ้นกับอาการในผู้ป่วยแต่ละราย ในทีนี้ขอยกตัวอย่างจุดฝังเข็มที่สามารถช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้ เช่น

  • จุดชวี่ชือ(LI11) ที่ช่วยลดความร้อนในเส้นปราณปอด
  • จุดเฟิงหลง(ST40) ที่ช่วยขับและลดเสมหะในร่างกาย ซึ่งจุดพวกนี้สามารถฝังเข็มหรือรมยา ช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ เป็นต้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • กระทรวงสาธารณะสุข. กรมการแพทย์. (2564). การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 23 สิงหาคม 2565, จาก Https://coviddms.go.th
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์. ตำราการแพทย์ไทยเดิม(แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์) เล่ม 1 ฉบับชำระ พ.ศ. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; 2550.
  • สุกรี กาเดร์. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์. (2561). การดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 23 สิงหาคม 2565, จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/
    e-pl/articledetail.asp?id=1352
  • Davis HE, Assaf GS, McCorkell L, Wei H, Low RJ, Re’em Y, et al. Characterizing long COVID in an international cohort: 7 months of symptoms and their impact. EClinicalMedicine. 2021;38:101019.
  • Sigfrid L, Drake TM, Pauley E, Jesudason EC, Olliaro P, Lim WS, et al. Long Covid in adults discharged from UK hospitals after Covid-19: A prospective, multicentre cohort study using the ISARIC WHO Clinical Characterisation Protocol. medRxiv [Internet]. 2021 [Cited 2021 March 25]; 44:1-43. Available from: https://doi.org/1101/2021.03.18.21253888
  • Venkatesan P. NICE guideline on long COVID. Lancet Respir Med [Internet]. 2021;9(2):129. Available from: http://dx.doi.org/1016/S2213-2600(21)00031-X
  • Hall VJ et al. SARS-CoV-2 infection rates of antibody-positive compared with antibody-negative health-care workers in England: a large, multicentre, prospective cohort study (SIREN). The Lancet Public Health. 2021; 397: 1459-69.
  • Diagnosis and Treatment Protocol for Novel Coronavirus Pneumonia (Trial Version 7).China, Document Number : [2020] 184. (2020 March 3). Available from: http://www.nhc.gov.cn/yzygj/s7653p/202003/46c9294a7dfe4cef80dc7f5912eb1989.shtml

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกแพทย์แผนจีน

  • โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018

บทความที่เกี่ยวข้อง

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอด

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอด นายธนวัฒน์ ชาชิโย (นักวิชาการโภชนาการ)   วัณโรค เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยโดย พ.ศ.2558 องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทย เป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก และคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 120,000 รายต่อปี วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและสามารถวัณแพร่เชื้อโดยการไอ จาม ฝอยละอองเสมหะที่ออกมาจากปอดของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคก็คือผู้ที่หายใจรับเชื้อวัณโรคที่ล่องลองในอากาศเข้าสู่ปอด   อาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดที่มีมักพบ คือ เบื่ออาหาร ไอ มีเสมหะ เหนื่อย หอบ ต่อมรับรสผิดปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวคือผลจากโรคและผลข้างเคียงจากยา  ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดมีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ในภายหลัง และเมื่อร่างกายขาดสารอาหารจึงส่งต่ออาการของโรคและการแพ้ยารุนแรง ภาวะทุพโภชนาการกับวัณโรค โดยปกติแล้วผู้ป่วยวัณโรค จะได้รับการรักษาและยา ตามที่แนวทางการรักษาของแพทย์ แต่อาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ป่วยวัณโรค หรือผู้ดูแลต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้น้อยลง จากอาการที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ส่งผลให้น้ำหนักจะลดลงเร็วมากถึง 3 –5 กิโลกรัมใน 2 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลต่อค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ทำให้มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ และมวลกล้ามเนื้อลดลง จากการได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ซึ่งผลต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง […]

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep)

5 คุณประโยชน์ของการนอนที่ดี (Surprising Reasons to Get More Sleep) โดย นพ. นพดล ตรีประทีปศิลป์ และ พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม (หน่วยโรคจากการนอนหลับ แผนกโสตนาสิกลาริงซ์) เคยไหม? บางวันรู้สึกเป็นวันที่ไม่สดใส หงุดหงิดกับคนรอบตัว สมองไม่ปลอดโปร่ง หรือไม่มีสมาธิเอาเสียเลย ทุกอย่างดูไม่เป็นใจไปเสียหมด หรือเพราะมันเป็นเพียงวันแย่ๆ วันหนึ่ง (It’s just a bad day) ทว่าเราเคยคิดทบทวนกันบ้างไหมว่า การนอนหลับของเราในคืนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นการนอนที่มีคุณภาพหรือไม่ ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และมีพลังกายพลังใจ พร้อมที่จะทำกิจกรรมในวันต่อไปแล้วหรือยัง ฉะนั้นเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเราก็คือเรื่องการนอน การอดนอนหรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลให้คุณรู้สึกฉุนเฉียว อ่อนล้าได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่หากปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากสภาวะอารมณ์ ยังสามารถแผ่ขยายไปกระทบถึงสุขภาพทางกาย ทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตผลให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงทั้งสิ้น มีงานวิจัยทางการแพทย์หลายบทความพบว่า การมีคุณภาพการนอนที่ดีอย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุมตั้งแต่เรื่องการคุมน้ำหนัก ไปถึงการลดอัตราการเกิดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และนี่คือเหตผลว่าทำไมเราควรมี “สุขภาพการนอนที่ดี” โดยบทความนี้ก็จะพาไปให้เห็นถึงเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนี่คือ 5 เหตผลว่าทำไมเราควรถึงต้องนอนให้ดี 1. […]

โรคอ้วน

โรคอ้วน พญ.ปฏินุช เย็นรมภ์ (อายุรศาสตร์และตจวิทยา) เกิดจากร่างกายมีการสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งจะคิดตามน้ำหนักตัว  คำนวนโดยใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) BMI = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม/(ส่วนสูงเป็นเมตร)ยกกำลังสอง     มีหน่วยเป็น kg/m2  หากมีค่า BMI มากกว่า 25 kg/m2   จัดว่าเป็นโรคอ้วน แต่หากเจ้าไขมันที่สะสมตามร่างกายนี้ส่งผลถึงระบบอวัยวะภายในร่างกาย จะเรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้ มีภาวะอ้วน โดยวัดจากเส้นรอบเอว ในผู้หญิงตั้งแต่ 80 เซ็นติเมตร ส่วน ผู้ชายตั้งแต่ 90 เซ็นติเมตร ร่วมกับมีภาวะมากกว่า2ใน4ข้อดังต่อไปนี้ ความดันโลหิตสูงมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร   ระดับไขมันดี (HDL) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง […]

ยาจีนบำรุงปอด

ยาจีนบำรุงปอด                                                                    โดย พจ.มาลีนา บุนนาค ลู่   ยาจีนหรือสมุนไพรจีนที่บำรุงปอด บรรเทาอาการไอ แบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ได้หลายชนิด ดังนี้ 1. บำรุงปอดบรรเทาอาการไอ เช่น ไป๋เหอ มีฤทธิ์ บำรุงปอด สงบจิตใจ ลดความร้อน บรรเทาอาการไอ ไอเป็นเลือด เป้ยหมู่ มีฤทธิ์ กดชี่ลงล่าง หยุดอาการไอ สลายเสมหะ อาการไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล สามารถใช้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยระบายความร้อน ลดไข้ กำจัดตุ่มหนอง ไป๋เหอ เป้ยหมู่ 2. บำรุงปอดเพิ่มสารอิน หรือสารน้ำ เช่น เทียนฮัวเฝิ่น มีฤทธิ์ ลดไข้ ทำให้ปอดชุ่มชื้น แก้กระหายน้ำ เพิ่มสารน้ำ ขับเสมหะ อู่เว่ยจึ มีฤทธิ์ เสริมสารน้ำ หยุดอาการไอ ซาเซิน มีฤทธิ์ ลดความร้อน […]