อาหารสำหรับมารดาตั้งครรภ์ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

การตั้งครรภ์ทางการแพทย์แผนไทยนั้นได้มีการอธิบายไว้ในหัวข้อ “กุมารปฏิสนธิ” จากคัมภีร์ประถมจินดา กล่าวไว้ว่า “อันว่าสตรีทั้งหลายเมื่อจะตั้งอนุโลมปฏิสนธินั้น พร้อมด้วยบิดามารดากับธาตุทั้ง ๔ ก็บริบูรณ์พร้อม คือปถวีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ ระคนกันเข้า” คือเกิดเพราะโลหิตบิดามารดาผสมรวมกันโดยสมบูรณ์พร้อมด้วยธาตุทั้ง ๔ แพทย์สามารถสังเกตโดย ๑ เอ็นผ่านเส้นหน้าอกนั้นเขียว ๒ หัวนมนั้นคล้ำดำเข้า แล้วตั้งขึ้นเป็นเม็ดครอบหัวนม ซึ่งคนท้องส่วนมากจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายในแต่ละเดือนที่ตั้งครรภ์แตกต่างกัน จึงสมควรกินอาหารที่เหมาะสมกับอาการเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุครรภ์และอาหารที่แนะนำ

เริ่มตั้งครรภ์

แพทย์แผนไทย

เมื่อตั้งครรภ์ ๑๕ – ๓๐ วันจะแสดงอาการให้รู้ว่าตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว  คือจะมีเอ็นเขียวผ่านหน้าอก หัวนมนั้นคล้ำดำขึ้นและมีเม็ดรอบหัวนม

แพทย์แผนปัจจุบัน

ผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหญิงตั้งครรภ์จาก Estrogen

  • กระตุ้นให้มีการสะสม Melanin pigment ในเนื้อเยื่อทำให้สีผิวบริเวณส่วนต่าง ๆ เช่นที่ลานนม อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และบริเวณเส้นกลางลำตัวจากลิ้นปี่ถึงหัวเหน่า (Linea nigra)
  • กระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ต่อมน้ำนมและหัวนม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นและคัดตึง

เดือนที่ ๑

แพทย์แผนไทย

ถ้าไข้รำเพรำพัด ให้ราก  จุกในอุทร แดกขึ้นแดกลงเป็นกำลัง  ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า  ไม่รู้เข้าใจว่าเป็นสันนิบาตหามิได้ บังเกิดโทษในครรภ์รักษานั่นเอง ให้แก้ตามบุราณเสียก่อน

แพทย์แผนปัจจุบัน

มีอาการแพ้ท้อง เต้านมจะใหญ่ขึ้น มีอาการคัดและเจ็บเต้านม อารมณ์จะเปลี่ยน หงุดหงิดง่าย

อาหารที่แนะนำ

  • ต้มจืดเต้าหู้หมูสับใส่ตำลึง
  • รากบัวเชื่อม
  • น้ำขิง

เดือนที่ ๒

แพทย์แผนไทย

ถ้าเป็นไข้จับ  จับเป็นเวลาทุกวันก็ดี  ให้นอนไม่หลับ  กินข้าวไม่ได้  เชื่อมมึน  เว้นวันจับวันก็ดี ให้แก้ตามบุราณเสียก่อน

แพทย์แผนปัจจุบัน

คัดเจ็บตึงเต้านม เต้านมขยายขึ้นมากถ้าสังเกตจะเห็นว่าบริเวณฐานของหัวนมจะกว้างและนุ่มขึ้น มีตกขาวมากขึ้นกว่าปกติ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน อารมณ์ยังคงแปรปรวน อ่อนไหว และซึมเศร้า เหนื่อยล้า

อาหารที่แนะนำ

  • ยำผักแว่น
  • ไก่ผัดขิง

เดือนที่ ๓

แพทย์แผนไทย

ถ้าเป็นไข้ให้ลงและราก จุกเสียด แทงหน้า แทงหลังกินอาหารมิได้ นอนมิหลับ ถ้าเป็นดังนี้ให้เกรงลูกจะตกเสีย ให้แก้ตามบุราณเสียก่อน

แพทย์แผนปัจจุบัน

ยังมีการแพ้ท้องยังอยู่หรือดีขึ้น แต่อารมณ์เริ่มคงเส้นคงวา อาจตรวจพบเสียงหัวใจของเด็ก อาจพบการบวมของฝ่ามือฝ่าเท้า และเส้นเลือดโป่งได้

อาหารที่แนะนำ

  • ชาชงเกสรบัวหลวง
  • ชาชงขิง

เดือนที่ ๔

แพทย์แผนไทย

ถ้าเป็นไข้เพื่อเสมหะทำโทษต่าง ๆ และเป็นลมให้เหงื่อตก  และตกโลหิตก็ดี  ถ้าประชุมกันทั้ง  ๔  สิ่ง เมื่อใดคือ สันนิบาต

แพทย์แผนปัจจุบัน

อาการแพ้ท้องจะเริ่มหายไป อารมณ์เริ่มเข้าสู่สภาพปกติ อาจมีสภาพใจลอย อาจมีตกขาวมากขึ้น เส้นเลือดขอดและริดสีดวงทวารอาจเกิดขึ้นได้

าหารที่แนะนำ

  • ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วใส่ขิง
  • ชาชงมะตูม
  • น้ำย่านาง น้ำฟักข้าว

เดือนที่ ๕

แพทย์แผนไทย

ถ้าเป็นไข้ให้ลงราก  จุกหน้า  จุกหลังเป็นสิ่งใด ๆ ก็ดี  ก็เป็นเพราะครรภ์รักษานั้นเอง

แพทย์แผนปัจจุบัน

มีการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง อารมณ์คงที่มากขึ้น ทารกในครรภ์เริ่มขยับตัว

อาหารที่แนะนำ

  • ปลาทอดขมิ้น แกงเหลือง
  • น้ำใบบัวบก

เดือนที่ ๖

แพทย์แผนไทย

ถ้าเป็นไข้ให้เจ็บแข้ง  เจ็บขา  เจ็บหน้าตะโพก และให้คันทวาร  อุจจาระ ปัสสาวะ  และเป็นลมจับเนือง ๆ

แพทย์แผนปัจจุบัน

เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหน้าท้อง เรียกหน้าท้องลาย อาจมีอาการคันตามมา อาจเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาการครรภ์เป็นพิษ การอักเสบของการติดเชื้อราและติดเชื้อทางระบบปัสสาวะ

อาหารที่แนะนำ

  • ต้มไข่พะโล้
  • ปีกไก่อบเชย
  • น้ำย่านาง

เดือนที่ ๗

แพทย์แผนไทย

ไข้ให้เป็นต่าง ๆ  ให้ลง ให้รากโลหิตก็ดี  แลให้ร้อนภายใน  ให้เป็นไข้ไปต่าง ๆ

แพทย์แผนปัจจุบัน

อาจมีอาการหายใจสั้น เนื่องจากมดลูกโตมาดันกระบังลม เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นอนหลับไม่เต็มที่

อาหารที่แนะนำ

  • โจ๊กปลาใส่ขิง
  • น้ำย่านาง
  • เต้าฮวยน้ำขิง

เดือนที่ ๘

แพทย์แผนไทย

เป็นไข้ส่วนมากมิพอเป็นไร  เพราะกุมารแก่แล้ว  จวนจะคลอดอยู่แล้ว  ถ้าเป็นไข้  เป็นไข้รำเพรำพัดต่าง ๆ

แพทย์แผนปัจจุบัน

เหนื่อยง่าย หายใจเร็วและสั้น กระเพาะปัสสาวะถูกกด มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เรอบ่อย

อาหารที่แนะนำ

  • แกงเหลือง
  • ชามะตูม
  • สะเดาน้ำปลาหวาน

เดือนที่ ๙

แพทย์แผนไทย

เป็นไข้สิ่งใด ๆ ก็ดี  ยังอยู่ในครรภ์รักษา  กุมารอยู่ในครรภ์แก่กล้า  ถ้าเป็นไข้ก็แต่ภายนอก เว้นแต่เป็นไข้อหิวาตกโรค แต่ถ้าเป็นฝีเอกตัดหรือ  ต้องฤทธิยาคมคุณไสย  กุมารอยู่ในครรภ์  จึงจะตายก่อนมารดาและจะพาเอามารดาไปด้วย

แพทย์แผนปัจจุบัน

อาจจะปวดที่หัวเหน่า โคนขา ปัสสาวะบ่อย รู้สึกหน่วงช่วงเชิงกรานมากขึ้น

อาหารที่แนะนำ

  • ขิงสด
  • แกงขี้เหล็ก

งานวิจัยอ้างอิง

  • ขิง : บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน (Borelli F, et al.) โดยไม่พบผลข้างเคียง(ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ และไม่มีผลต่อการคลอด) ของการกินขิง (วิชัย เอกพลากร, ๒๕๔๙)
  • ตำลึง : มีฤทธิ์ลดน้ำตาลทั้งกลุ่มทดลองที่เป็นปกติและเป็นเบาหวาน (Manusinghe, et al.)
  • ผักแว่น : มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ปนัดดา ทินบุตร และจินดารัตน์ พิมพ์สมาน, ๒๕๕๔)
  • บัวหลวง : ยับยั้งเอนไซม์ที่ควบคุมการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ (พวกแก้ปวด แก้อักเสบ) มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด (เพ็ญพิชญา เตียว, ๒๕๕๕)
  • ฟักข้าว : ประกอบด้วยโปรตีนหลายชนิดและมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์, ๒๕๕๗)
  • มะตูม : สารจากผลมะตูมสามารถยับยั้ง thyroid cancer และมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส และต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ  (อ้อมบุญ วัลลิสุต,  ๒๕๕๖)
  • อบเชยเทศ : ช่วยในการขยายหลอดเลือด (European medicines agency, 2010)
  • ย่านางแดง : ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง (ศิริกัญญา สยมภักดิ์, ๒๕๕๕)
  • ขี้เหล็ก : สารสกัดใบขี้เหล็กออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (Ampa luangpirom, 2006)
  • มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ. ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทยศาสตร์สงเคราะห์) ฉบับ พัฒนา ตอนที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์; 2554.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม พญ. พิรัฐิมา วชิรปราการสกุล อาการผิดปกติขอ […]