การดำรงชีวิตด้วยหลักธรรมานามัย

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

หลักธรรมานามัย หมายถึงอะไร

ประกอบด้วย 2 คำ คือ คำว่า “ธรรมะ” หมายถึง ธรรมชาติ และ “อนามัย” หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี เมื่อนำมารวมกัน จึงมีความหมายว่า การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วยวิถีทางธรรมชาติ (Healthy by natural method) ซึ่งจะให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ช่วยให้มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจสงบ ตระหนักรู้คิด สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ โดยเป็นแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ซึ่งเป็นหนึ่งบุคคลที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย

แนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทยมองสุขภาวะแบบองค์รวม มองชีวิตคนเป็นนามรูป โดยรวมกายและใจเป็นเอกพจน์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องรวมกันเป็นหนึ่ง ไม่แยกออกจากกัน เพราะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้องอิงอาศัยกัน มี 3 ส่วน คือ กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัย

ความหมายของสุขภาพในการแพทย์แผนไทย คือ สุขภาพกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติตามหลักพุทธธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทย

เบื้องต้นให้มองโรคทั้งหมดเป็นชีวิต มองชีวิตว่าเป็นโรคที่ต้องเยียวยา แต่ว่า “โรค” นั้นเยียวยาได้ ซึ่งหมายถึง ร่างกายนี้เป็นรังของโรค แต่โรคนั้นแก้ไขได้ จุดหมายคือการแก้ไขความไม่สบายหรือโรคของชีวิตนั่นเอง

กายานามัย คืออะไร

กายานามัย หรือ Healthy body เป็นการส่งเสริมสุขภาพทางกายด้วยการออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การเดิน เป็นต้น แต่ต้องเหมาะแก่วัยและสภาพร่างกายของบุคคล เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและมีการเสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด นอกจากนั้นการรับประทานอาหารที่ดีและการพักผ่อนอย่างเพียงพอจัดอยู่ในการส่งเสริมสุขภาพทางกายด้วย สำหรับแพทย์แผนไทยมีวิธีส่งเสริมสุขภาพโดยกายบริหารด้วยท่าฤาษีดัดตน ก้าวตา-ก้าวเต้น การนวดไทย และการรับประทานอาหารตามธาตุ ฯลฯ

กายานามัยเป็นหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ กล่าวว่า ผู้ที่มีอายุ  30 ปีขึ้นไป ในทางการแพทย์แผนไทยถือว่า “ปัจฉิมวัย” ตามคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) จะเริ่มทำงานเสื่อมลง เมื่อธาตุทั้ง 4 ทำงานไม่สมดุลกัน จะก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท คือ การดูแลร่างกายในเรื่องการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย

หลักการบริโภคอาหารตามหลักกายานามัย คือ เน้นการบริโภคอาหารให้ถูกกับธาตุและโรค มีการปรับธาตุด้วยรสชาติต่าง ๆ ที่มีในตามธรรมชาติ เช่น การรับประทานอาหารรสร้อน ในผู้ที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น

หลักการออกกำลังกายตามหลักกายานามัย เริ่มจากการปรับท่วงท่าหรืออิริยาบถของร่างกายในขณะหยุดนิ่งและเคลื่อนไหวให้เหมาะสม เพื่อบุคลิกภาพภายนอกที่ดีและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยตามมา แล้วจึงออกกำลังกายโดยวิธีต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสม่ำเสมอในแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่มีเข่าเสื่อมจะไม่เหมาะกับการออกกำลังกายที่มีการกระแทกหรือการย่อตัวลงนั่งที่มากเกินไป เป็นต้น

จิตตานามัย คืออะไร

         จิตตานามัย หรือ Healthy mind เป็นการส่งเสริมสุขภาพทางใจด้วยการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาตามหลักพุทธธรรม หรือตามหลักศาสนาที่นับถืออยู่ เพื่อสร้างพื้นฐานจิตให้มั่นคง ไม่กวัดแกว่งไปตามกิเลส ไม่เครียด กล่าวง่าย ๆ คือ การพูดดี คิดดี ทำดี ตระหนักรู้และมีสติในทุกการกระทำ การปฏิบัติเพื่อฝึกจิตให้มั่นคง สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิตามหลักศาสนาพุทธ การนั่งสมาธิแบบคริสต์ตามแบบ WCCM (World community for Christian Meditation) ตามหลักศาสนาคริสต์ การละหมาดตามหลักศาสนาอิสลาม เป็นต้น

สำหรับทางการแพทย์แผนไทย “ธาตุเจ้าเรือน” มีส่วนในการกำหนดวุฒิภาวะและอารมณ์ไม่มากก็น้อย เช่น คนที่มีธาตุไฟเป็นธาตุเจ้าเรือน มักจะเป็นคนรุ่มร้อน ใจร้อน กล้าหาญ หรือคนที่มีธาตุลมเป็นธาตุเจ้าเรือน มักจะเป็นคนใจโลเล โกรธง่ายหายเร็ว เป็นต้น หากเราเข้าใจ รู้จักจิตใจตัวเองดี จะทำให้เราสามารถควบคุมความคิดและความรู้สึกขณะรับกระทบอารมณ์ได้ดีด้วย และเมื่อควบคุมอารมณ์และความคิดได้ดีก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การพักผ่อนให้เหมาะสม (กายานามัย) รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมการดำรงชีวิตอื่น ๆ (ชีวิตานามัย) ได้ดีเช่นกัน ดั่งสำนวนที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

ชีวิตานามัย คืออะไร

         ชีวิตานามัย หรือ Healthy behavior เป็นการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักอนามัย มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและครอบครัว ควบคุมพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียดุลยภาพของชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง มีประโยชน์ การจัดที่พักอาศัยให้สะอาด การละเว้นสิ่งเสพติดทั้งหลาย การดำเนินชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มาก หลีกเลี่ยงมลภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตตามหลักชีวิตานามัย เป็นต้น

การดำเนินชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นการปรับธาตุ 4 ภายนอก ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ผล หรือผักที่รับประทานได้ เพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือควรปลูกต้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศ ความชุ่มชื่น ร่มเย็น รวมถึงการดูแลความสะอาดของบ้านเรือน และเครื่องแต่งกายที่สะอาดด้วย

หลักธรรมนามัยเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพแบบบูรณาการ ร่วมกับการดำเนินชีวิตว่าด้วยหลักธรรมชาติของกายและจิตที่เคลื่อนไหวไปตามกาลเวลาและการกระทำสิ่งที่ดีและชั่ว โดยองค์ประกอบของหลักธรรมานามัยทั้ง 3 ประการนั้น ย่อมมีผลต่อกัน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หากผู้ที่ปฏิบัติดีก็จะส่งผลให้สุขภาพกาย ใจ และสิ่งแวดล้อมดีไปด้วย ถ้าหากปฏิบัติชั่วก็จะส่งผลไปในทางด้านตรงข้ามเช่นกัน

อ้างอิง

การนั่งสมาธิแบบคริสต์ ตามแบบ WCCM (WCCM Christian Meditation) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ; 2556 [เข้าถึงเมื่อ 1 เม.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.layapostlebkk.com/layarticle01/art033/art033.html

การละหมาดหรือการนมาซ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง; 2549 [เข้าถึงเมื่อ 1 เม.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.lib.ru.ac.th/journal/prayer1.html

คณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาธรรมานามัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ธรรมานามัย. ครั้งที่ 1, นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2547.

สุกรี กาเดร์. การดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2561 [เข้าถึงเมื่อ 1 เม.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1352

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง