หยิน-หยาง

ความรู้ทั่วไป, ความรู้แผนจีน   ลงวันที่

หยิน-หยาง

พจ.ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์ :  ผู้แปลและเรียบเรียง

หากพูดถึงการแพทย์แผนจีน หลายคนนอกจากจะนึกถึงการฝังเข็มแล้ว ยังอาจจะนึกถึงสัญลักษณ์หยิน-หยาง หรือสัญลักษณ์รูปร่างกลมที่มีสีขาวและสีดำนั้นเอง

ความหมายและความสำคัญของหยิน-หยาง

หยินและหยาง (阴阳Yin-Yang) เป็นแนวคิดปรัชญาของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณกาล ได้จากการสังเกตและค้นพบลักษณะที่สำคัญของธรรมชาติ ว่าสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วย 2 ด้าน ซึ่งขัดแย้งกัน ต่อสู้กัน พึ่งพากัน แยกจากกันไม่ได้  โดย สีดำแทนหยิน สีขาวแทนหยาง มีการกล่าวถึง หยิน-หยาง เป็นครั้งแรก ซึ่งถูกบันทึกในคัมภีร์อี้จิง《易经》ในสมัยโบราณหยินและหยาง จึงถูกนำมาใช้ในวิชาการ เช่น การพยากรณ์อากาศ ภูมิศาสตร์-ฮวงจุ้ย ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และหมายรวมถึงการแพทย์แผนจีนด้วย

บทความนี้จะกล่าวถึงหนึ่งในการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์แผนจีน นั้นคือการรับประทานอาหาร หรืออาหารเป็นยาได้อย่างไร ก่อนอื่นเราต้องเช็คร่างกายเราก่อนว่ามีลักษณะเป็นไปในทางหยิน หรือ หยาง ?จากนั้นเราก็จะสามารถเลือกอาหารหยินหรืออาหารหยางได้ว่าเราควรทานอาหารลักษณะแบบไหน

ลักษณะร่างกายหยิน

พูดเสียงเบา ตกใจง่าย ค่อนข้างเก็บตัว หายใจเบา ชีพจรเต้นช้า หน้าซีดขาว ขี้หนาว แขนฝ่ามือ ฝ่าเท้าและขาเย็น กินอาหารได้น้อยไม่ค่อยเจริญอาหาร ท้องอืดง่ายหรือระบบย่อยไม่ค่อยดี ไม่ค่อยกระหายน้ำ เป็นต้น

อาหารหยินคือ อาหารที่กินแล้วให้ความรู้สึกเย็น มีรสชาติขม เปรี้ยว และเค็ม รวมไปถึงอาหารที่ผ่านการปรุงรสด้วยวิธีต้ม นึ่ง ตุ๋น เป็นต้น เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเป็ด เนื้อปู เนื้อหมู เป็นต้น ผักและผลไม้ได้แก่ กล้วย ส้ม แตงโต แอปเปิ้ล กีวี แคนตาลูป ถั่วฝักยาว ถั่วแขก แตงกวา ปวยเล้ง มะเขือเทศ เป็นต้น

ดังนั้น “คนที่มีร่างกายเป็นไปในทางหยิน(เย็น) ควรรับประทานอาหารหยาง(ฤทธิ์ร้อน)”

ลักษณะร่างกายหยาง

คล่องแคล่ว พูดเก่ง คิดไว กระวนกระวายง่าย กระฉับกระเฉง ขี้ร้อน ชีพจรเต้นเร็ว อารมณ์เสียง่าย หน้าแดง หายใจแรง หงุดหงิดง่าย ตัวร้อน กินเก่ง ท้องผูก คอและปากแห้ง เป็นต้น

อาหารหยางคือ อาหารที่กินแล้วให้ความรู้สึกร้อน มีรสชาติเผ็ด หวาน รวมไปถึงอาหารที่ผ่านการปรุงรสด้วยวิธีทอด ย่าง รมควัน เป็นต้น เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อแพะ เป็นต้น ผักและผลไม้ ได้แก่ มะเขือยาว พริก ผักชี ต้นกระเทียม ขิง มะละกอ โหระพา กาแฟ ถั่วลิสง เป็นต้น

ดังนั้น “คนที่มีร่างกายเป็นไปในทางหยาง(ร้อน) ควรรับประทานอาหารหยิน(ฤทธิ์เย็น)”

 

เมื่อเรารู้ว่าร่างกายเป็นหยินหรือหยางแล้ว เราก็จะสามารถเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมได้ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเราสมดุล สุขภาพที่ดี ย่อมต้องสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับธรรมชาติเสมอ ทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่มีอิทธิพลต่อร่างกายของเราทั้งสิ้น

ความหมายของการมีสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแต่ไม่เจ็บป่วย แต่ต้องรู้จักป้องกันและสังเกตอาการของตัวเอง ณ ขณะนั้น หลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่อาจจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้  ตามด้วยสุขภาพจิต  ปรับสมดุลของจิตใจและอารมณ์ของตนเอง หากรู้ตัวว่ากำลังเครียดต้องรีบหางานอดิเรกทำให้จิตใจเบิกบาน หมั่นฝึกสมาธิอยู่เสมอ หากเรารู้เท่าทันและเข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้วเราก็จะสามารถป้องกันปัจจัยภายนอกที่อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆได้มากมายเลยทีเดียวค่ะ

 

ที่มา

1.The Yin & Yang Concept in Chinese Eating. https://www.chinesemedicineliving.com/blog/yin-yang-concept-chinese-eating/. Accessed on June 28,2018

2.A comparison of traditional food and health strategies among Taiwanese and Chinese immigrants in Atlanta, Georgia, USA. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3846646/. Accessed 2 September 2019.

3.ทฤษฎียิน-หยาง. http://cmed.hcu.ac.th/knowledge.php?num=41. Accessed on June 28,2018

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกแพทย์แผนจีน

  • โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]