เคล็ดลับ…เมื่อลูกกินยากช่างเลือก

ความรู้ทั่วไป, ความรู้เด็ก   ลงวันที่

ปัญหายอดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักพบเจอกันอยู่เสมอ คือ  ปัญหาพฤติกรรมกินยาก และช่างเลือกของลูกรัก โดยเมื่อถึงเวลาอาหารทีไรก็มักขัดแย้งกันบนโต๊ะอาหารทุกที เพราะลูกตั้งหน้าตั้งตาส่ายหน้า
ไม่กินนั่นไม่ชอบนี่ พร้อมกับปฏิเสธอาหารสารพันที่สรรหามาให้ตลอดเวลา ซึ่งไม่เพียงทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดที่จะต้องรบกับลูก แต่ยังเกิดความกังวลใจไปถึงในอนาคต เพราะกลัวว่าพฤติกรรมกินยาก แถมช่างเลือกจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขาดสารอาหาร และมีพัฒนาการที่ไม่ดีไปในที่สุดอีกด้วยค่ะ

ทำความเข้าใจ…ทำไมลูกกินยากนักนะ

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเปิดฉากรบกับลูกเพื่อบังคับให้กินให้ได้ ขอให้ใจเย็น ๆ สักนิด คิดทบทวนกันสักหน่อยก่อน เพราะโดยปกติพฤติกรรมกินยากและช่างเลือกนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กทั่วไปเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปีที่พบได้บ่อยมาก เพราะไม่เพียงลูกจะเริ่มโตขึ้น มีความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทำให้รู้จักปฏิเสธมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกิน แต่ช่วงวัย 1 ปียังเป็นช่วงที่ลูกได้รับอาหารที่มีลักษณะแข็งขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาในการบดเคี้ยวมากขึ้นและนานขึ้น จึงไม่ง่ายเหมือนดูดนมหรืออาหารบดเหลวที่กินได้สะดวกอย่างที่ผ่านมา ทำให้ลูกต้องใช้เวลาปรับตัวปรับใจอยู่มาก ซึ่งในระยะนี้เองจึงทำให้มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความไม่ชอบ ไม่เต็มอกเต็มใจที่จะกิน ส่ายหน้าปฏิเสธ ไม่ชอบไปหมด จนกลายเป็นพฤติกรรมกินยากให้เราได้พบเห็นนั่นเองค่ะ

เรื่องที่อยากรู้…ลูกของคุณเข้าข่ายกินยาก ช่างเลือกไหม?

คุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามเรื่องราวมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจยังไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าลูกจะเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมกินยากและช่างเลือกหรือไม่ ดังนั้น ช่วงเวลาต่อไปจากนี้ขอแนะนำให้ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกดูให้ดี ๆ แล้วล่ะค่ะว่าลูกมี 7 สัญญาณพฤติกรรมการกินเหล่านี้ เกิดขึ้นบ้างหรือไม่

7 สัญญาณพฤติกรรมการกิน Checklist

  • เลือกกินแต่อาหารที่ตัวเองโปรดปราน และต่อให้มีอาหารอย่างอื่นให้เลือกมากแค่ไหนก็ไม่สนใจกิน
  • ชอบกินแต่อาหารที่ซ้ำ ๆ กันทุกวัน และเรียกร้องที่จะกินแต่อาหารชนิดนั้นอย่างเดียว
  • เขี่ยอาหารที่ไม่ชอบออก แม้จะตักอาหารต่าง ๆ ใส่จานกันมากมายสักเพียงไหน ลูกก็คอยแต่จะเขี่ยออกไว้ข้างจานตลอด
  • กินน้อย แม้จะทำอาหารให้ดูน่ากินขนาดไหน ลูกก็กินไม่หมดจาน เพียงกินนิดเดียวก็ทำท่าอิ่มเสียแล้ว
  • กินอาหารช้าเป็นชั่วโมง ลูกจะละเลียดกิน เล็มกินทีละน้อย ๆ เคี้ยวได้ช้ามากจนคุณพ่อคุณแม่กินอิ่มไปนานแล้ว ลูกก็ยังกินไม่หมดจานสักที
  • ชอบอมข้าว หรืออมอาหารค้างไว้ในปากนาน ๆ โดยไม่ยอมเคี้ยวข้าวหรืออาหาร แต่จะอมอยู่อย่างนั้น และไม่ยอมกลืนอาหารลงคอ แม้จะป้อนเพิ่มใหม่ ลูกก็ยังอมเพิ่มมากขึ้นจนเป็นคำโต
  • ชอบกินขนม แต่ไม่ชอบกินผักผลไม้ จึงเลือกกินแต่ขนมของหวาน ของกินจุบกินจิบที่ไม่มีประโยชน์มากกว่าผลไม้ต่าง ๆ ที่สรรหามาให้เสมอ

ข้อควรระวัง !!!

ถ้าลูกคุณมีพฤติกรรมการกินอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นหรือมีพฤติกรรมที่มากกว่า 1 อย่างขึ้นไป อย่าได้ปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องหันมาดูแลลูกเพิ่มขึ้นให้ดีนะคะ พร้อมดูแลเอาใจใส่เรื่องคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาของการขาดสารอาหาร หรือปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาด้วยค่ะ เช่น การมีนิสัยการกินที่ไม่ดี เลือกกินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออื่น ๆ

เมื่อทราบว่าพฤติกรรมกินยาก และช่างเลือกของลูกส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารกันแล้ว ทราบไหมว่าภาวะขาดสารอาหารนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงพัฒนาการของลูกด้วย ส่วนจะมีด้านไหนบ้าง เราไปติดตามกันค่ะ

รู้ทันผลกระทบ 4 ด้าน จากพฤติกรรมกินยาก ช่างเลือก

ด้านที่ 1 ด้านการเรียนรู้

โดยจะทำให้คะแนน Mental Development Index Score ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป

ด้านที่ 2 ด้านสุขภาพ

โดยจะไปเพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วย เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่

ด้านที่ 3 ด้านการเจริญเติบโต

โดยจะทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเตี้ย แคระแกรน ไม่แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไป

ด้านที่ 4 ด้านโภชนาการ

โดยจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกาย และตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ จึงควรดูแลแก้ไขให้ลูกได้รับโภชนาการที่มีคุณค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไปที่ลูกจะต้องได้รับอาหารเสริม ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กทั่วไปมีความสนใจในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว ทั้งยังมีความสนใจอาหารที่นำมาป้อนด้วย

ดังนั้นช่วงนี้คุณแม่จึงควรจัดเมนูอาหารหลายชนิดให้ครบทั้ง 7 กลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช, ผัก, ผลไม้, น้ำมัน, นม, เนื้อสัตว์ และถั่ว เพื่อให้มั่นใจว่าลูกรักจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองรสชาติหลากหลาย ได้สัมผัสลักษณะอาหารที่แตกต่าง ได้มองเห็นสีสันของอาหารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสายตา ได้รับรู้เรื่องกลิ่นของอาหาร

นอกจากนี้ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นสำรวจกับอาหาร หรือปล่อยให้ลูกได้ป้อนอาหารเข้าปากเองบ้างนะคะ ถึงแม้จะดูเลอะเทอะจนน่าเหนื่อยใจ แต่ก็คุ้มค่ากับผลที่ได้รับ คือ ช่วยให้ลูกรู้สึกอยากกินและสนใจกินได้ค่ะ ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่ก็เพียงค่อย ๆ ปรับลักษณะอาหารไปตามวัย เช่น ทำอาหารบดละเอียดให้กลายเป็นบดหยาบเมื่อลูกเริ่มมีฟันบดเคี้ยว จากนั้นปรุงให้เป็นอาหารอ่อนนิ่ม แล้วค่อยพัฒนาอาหารให้กลายเป็น 3 มื้อแบบผู้ใหญ่เมื่อลูกครบขวบปีแรกขึ้นไปนะคะ พร้อมกับให้ลูกได้ดื่มนมที่มีคุณค่าสารอาหารต่าง ๆ เป็นอาหารมื้อรองควบคู่ไปกับการกินอาหารมื้อหลักด้วย เพื่อช่วยป้องกันภาวะการขาดโภชนาการให้ลูกนั่นเองค่ะ

เทคนิคการปรับพฤติกรรมหนูน้อย

ทราบไหมว่าเราสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ดี หรือการสร้างนิสัยในการกินอาหารที่ดีให้กับลูกอย่างได้ผลมากกว่าใครค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ คือแบบอย่างที่สำคัญของลูก ซึ่งอยากจะเลียนแบบไปเสียทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกินเมื่อทราบว่าคุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญต่อลูกมากมายขนาดนี้แล้ว อย่าได้มองข้ามการส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ไปเชียวนะคะ ดังนี้

  • ไม่ส่งเสริมให้ลูกกินขนมจุบจิบของหวาน หรืออาหารที่มีแต่แป้งและน้ำตาลก่อนอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอิ่มเสียก่อน จนไม่มีความอยากอาหารมื้อหลัก ถ้าอยากให้ลูกกินจริง ๆ ควรเปลี่ยนไปเป็นผลไม้หรือของว่างที่มีประโยชน์ดีกว่าค่ะ
  • ให้ลูกนั่งกินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน โดยพร้อมหน้าทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคนอื่นในบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและกระตุ้นให้ลูกรู้สึกอยากกินเพิ่มขึ้นได้นั่นเอง
  • ไม่บังคับลูกให้เริ่มกินอาหารที่ไม่คุ้นเคย  หรือไม่ชอบ หรือมีกลิ่นฉุน ๆ เช่น ผักที่มีกลิ่นมีเสี้ยนมาก ผลไม้ที่กลิ่นแรง ๆ เนื้อสัตว์ที่กลิ่นคาว เนื้อเหนียว แต่ควรให้อาหารที่กินได้ง่าย เช่น ผักควรเริ่มที่ฟักทองที่มีเนื้อนุ่มเนียน ไม่มีกลิ่นฉุน พร้อมดัดแปลงอาหารต่าง ๆ ให้มีสีสันน่ากิน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ลูกเกิดความรู้สึกอยากกิน เช่น จัดอาหารเป็นหน้าตาของการ์ตูน นางฟ้า หรือตัวสัตว์ต่างๆ ที่ลูกชอบ
  • สร้างความมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร  เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกอยากกิน ไม่ว่าจะเป็นการชวนลูกเข้าครัวไปเด็กผัก ล้างผัก จัดวางจานชามบนโต๊ะ หรือออกความเห็นว่าแต่ละมื้อควรทำอะไรกินดี หรืออื่น ๆ เท่าที่ลูกจะสามารถทำได้ตามวัยของเขานะคะ
  • เลือกภาชนะใส่อาหารที่ดึงดูดความสนใจของลูก ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำลวดลายการ์ตูนที่ลูกโปรดปราน เช่น มิกกี้เม้าส์ คิตตี้แคท หมีพูห์ หรืออื่น ๆ พร้อมกับชวนลูกไปซื้อหาอุปกรณ์การกินให้เป็นของตัวเอง โดยให้ลูกมีโอกาสเลือกได้ตามใจชอบเลยค่ะ
  • สร้างบรรยากาศสนุกสนานน่าสนใจ ชักชวนหรือโน้มน้าวให้ลูกกินด้วยคำพูดดี ๆ ท่าทีสบาย ๆ ไม่เร่งรัด บังคับ ขู่เข็ญ หรืออ้อนวอนให้ลูกกินเป็นอันขาด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกมีความสุข สนุกที่จะกิน ไม่เบื่อที่จะกิน พร้อมสร้างบรรยากาศที่ดีด้วยการชวนคุยถามไถ่ถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกเล่าไปกินไปด้วยก็ดีค่ะ จะยิ่งช่วยให้ลูกรู้สึกเจริญอาหารมากขึ้นนะคะ
  • ชื่นชมเมื่อลูกกินอาหารได้ดี  เมื่อเห็นลูกกินอาหารได้ดี ควรชมเชยอย่างเหมาะสมจริงใจอย่าชมจนดูโอเว่อร์เกินจริงนะคะ เพราะลูกสามารถรับรู้ได้ถึงความไม่จริงใจ ทำให้ไม่เชื่อถือเราได้ แล้วสิ่งที่ควรระวัง คืออย่าสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้ลูกต้องยอมรับ หรือทำตามที่เราต้องการ เช่น โกหก ดุว่า ใช้อารมณ์ลงโทษ หรือบังคับให้ลูกกินให้ได้ดั่งใจที่เราต้องการ เพราะลูกจะยิ่งต่อด้าน และรู้สึกไม่ดีในการกินค่ะ
  • เล่านิทานสนุก ๆ จูงใจให้ลูกอยากกิน  เด็ก ๆ ชอบฟังนิทาน และมักเชื่ออย่างจริงใจในสิ่งที่เล่าเสมอค่ะ เราจึงสามารถจูงใจลูกด้วยการเล่านิทานสนุกที่แฝงคำสอนให้รู้จักกินอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ และมีพฤติกรรมการกินที่ดีได้ด้วยนะคะ

แบบอย่างพ่อแม่สำคัญที่สุด

การเป็นต้นแบบในการกินอาหารที่มีประโยชน์ การมีพฤติกรรมการกินที่ดี ถือเป็นเรื่องสำคัญของการส่งเสริมนิสัยการกินให้ลูกได้เป็นอย่างดี อยากให้ลูกกินผัก ผลไม้ ดื่มนม หรืออาหารอื่นใด เราต้องกินอย่างเต็มใจให้ลูกเห็น พร้อมกับชี้แนะประโยชน์ของอาหารต่าง ๆ ให้ลูกรู้จักกินได้อย่างมีคุณค่าตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]