ท่าบริหาร หัวไหล่ติด( Frozen Shoulder)

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

หัวไหล่ติด คือ อาการปวดรอบข้อไหล่ ไม่สามารถ ยก กาง หรือ หมุนข้อไหล่ได้

สาเหตุของข้อไหล่ติด

อาจเกิดจาก 1. เอ็นข้อไหล่อักเสบ   2. เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด   3. กระดูกงอกภายในข้อไหล่ เป็นต้น   โดยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป

หัวไหล่ติด แบ่งได้ 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ระยะเจ็บปวด

อาการปวดจะค่อยๆเพิ่มขึ้น ปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ปวดมากเวลากลางคืน รบกวนการนอน มุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง ระยะนี้มีอาการปวดนาน 2 เดือน ถึง 9 เดือน

ระยะที่ 2 ระยะข้อติด

อาการปวดระยะแรกเริ่มลดลง การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงอย่างชัดเจน อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน โดยระยะนี้อาจนาน 4 เดือน ถึง 1 ปี หรืออาจจะนานกว่านี้ก็ได้

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

อาการปวดจะลดลง การเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วง 5 เดือนถึง 2 ปี

แนวทางการรักษาโรคหัวไหล่ติด

แนวทางการรักษาโรคหัวไหล่ติดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ คือ การนวดกดจุดรักษา ประคบสมุนไพร เพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบ และเพิ่มองศาข้อไหล่ หากบางรายมีอาการปวดมากสามารถรับประทาน   ยาสมุนไพร ที่มีสรรพคุณ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ควบคู่กันได้  การรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย อาจจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่อาการและระยะของโรคหัวไหล่ติด

 

ผู้ป่วยควรทำท่าบริหารควบคู่ไปกับการรักษาร่วมด้วย  เพื่อเพิ่มองศาข้อไหล่  โดยมีท่าบริหารทั้งหมด 3 ท่า

ท่าบริหารสำหรับคนหัวไหล่ติด

ท่าที่ 1 ท่าไต่กำแพงด้านหน้า

ประโยชน์

  • ช่วยยืดกล้ามเนื้อ บ่า คอ ไหล่ แขน ทำให้สามารถยกแขนชิดหูได้องศามากขึ้น

ท่าบริหาร

ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง
ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บเกินไป
ค้างไว้ 10-15วินาที แล้วค่อยๆลดมือลงมาอยู่ในท่าเตรียม
ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าที่ 2 ท่าไต่กำแพงด้านข้าง

ประโยชน์

  • ช่วยยืดกล้ามเนื้อ บ่า คอ ไหล่ แขน ทำให้สามารถยกแขนชิดหูได้องศามากขึ้น

ท่าบริหาร

ยืนหันข้างลำตัวเข้ากำแพง ยกแขนข้างมีอาการปวด แขนเหยียดตรง 
ใช้มือไต่กำแพงขึ้น ให้รู้สึกว่าตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป 
ค้างไว้ 10-15 วินาที แล้ค่อยๆลดมือลงอยู่ในท่าเตรียม 
ทำซ้ำ 5-10 ครั้งเช้า-เย็น

ท่าที่ 3 ท่ายืดหัวไหล่

ประโยชน์

  • ช่วยยืดกล้ามเนื้อ หัวไหล่ด้านหน้า ทำให้สามารถนำมือไพล่หลังได้องศามากขึ้น

ท่าบริหาร

มือสองข้างผสานกันที่ด้านหลัง แขนเหยียดตรง
ค่อยๆยกแขนขึ้น ให้รู้สึกตึงหัวไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป 
ค้างไว้ 10 – 15 วินาที
ค่อยๆลดแขนลงกลับมาอยู่ในท่าเตรียม
ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ท่าที่ 4 ท่าเอื้อมมือ

ประโยชน์

  • ช่วยยืดกล้ามเนื้อ หัวไหล่ด้านข้างและด้านหลัง ทำให้สามารถใช้มือเท้าสะเอวได้องศามากขึ้น

ท่าบริหาร

ใช้มือข้างที่มีอาการปวดหัวไหล่ จับหัวไหล่ฝั่งตรงข้าม มืออีกข้างจับข้อศอก
ค่อยๆดันข้อศอกเข้าหาลำตัว ให้รู้สึกว่าตึงไหล่ ไม่เจ็บมากเกินไป 
ค้างไว้ 10 -15 วินาที 
ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น

ข้อควรระวัง

ในการทำท่าบริหาร คือ หากยังมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน หรือทำท่าบริหารแล้วมีอาการปวดมากขึ้น ให้หยุดทำท่าบริหาร และ ให้ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวด  แต่ถ้าไม่มีมีอาการ บวมแดงร้อน สามารถประคบร้อนบริเวณที่มีอาการปวดได้

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง