- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อันตรายแค่ไหน
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อันตรายแค่ไหน
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อันตรายแค่ไหน
พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า uterine fibroids เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่มากที่สุดของการผ่าตัดมดลูก เนื้องอกดังกล่าวเป็นเนื้อปกติ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเนื้อร้าย ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์อาการคลำได้ก้อน เลือดออกผิดปกติ หรือมีปัสสาวะอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาจทำให้มีอาการปิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 20-50 เท่านั้นที่มีอาการ และเข้ารับการตรวจ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกนั้นถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ ดังนั้นจึงพบได้มากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และค่อยๆฝ่อเล็กลงในสตรีวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ ความอ้วน การไม่มีบุตร อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเนื้องอกมากขึ้นได้
อาการ
- ประจำเดือนออกผิดปกติ โดยประจำเดือนมักมามาก หรือมายาวนานขึ้น
- คลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อย มักคลำได้ชัดเจนขึ้นเมื่อนอนราบ
- ปวดหน่วงท้องน้อย หรือปวดตามรอบระดู
- อาการจากการกดเบียดของก้อนเนื้องอก เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรืออาจกดทับท่อไต ทำให้เกิดไตบวมน้ำได้
- ภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตรง่าย อาจเกิดขึ้นได้จากก้อนเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก
การรักษา
แนวทางการรักษา แบ่งเป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ การใช้ยาและการผ่าตัด
- การรักษาโดยการใช้ยา มักใช้ในรายที่มีความผิดปกติของประจำเดือน โดยความหวังให้ปริมาณประจำเดือนออกลดลงเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อลดขนาดของก้อน
- การรักษาโดยการผ่าตัด สามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง และผ่าตัดส่องกล้อง
2.1 การผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกมดลูก เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตร และเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่มาก ทั้งนี้การผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก อาจทำให้เนื้องอกมดลูกกลับมาเป็นซ้ำได้
2.2 การผ่าตัดมดลูก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกนรีเวชกรรม
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1571 , 1572