- หน้าแรก
- บทความ
- ความรู้ทั่วไป
- ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์
กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีการตกไข่ เกิดเป็นลักษณะถุงน้ำเล็กๆหลายๆใบในรังไข่ ร่วมกับมีฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้นในร่างกาย ทำให้เกิดลักษณะต่างๆ เช่น สิว หน้ามัน ขนดก นอกจากนี้อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการทางเมตาบอลิกตามมา ภาวะนี้พบได้ถึง 1 ใน 10 ในสตรีวัยเจริญพันธุ์และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
อาการ
- 1. ระดูผิดปกติ
ได้แก่ ระดูออกน้อย คือ มีรอบระดูที่ห่างขึ้น ยาวนานมากกว่า 35 วัน หรือน้อยกว่า 10 รอบต่อปี / ขาดระดู คือ รอบระดูห่างมากกว่า 6 เดือน หรืออาจมีการขาดหายไปของระดู 3 รอบติดต่อกัน
- 2. มีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายที่สูง เช่น สิว หน้ามัน ผมร่วง ศีรษะล้าน มีขนขึ้นเยอะ มีกล้ามเนื้อแบบผู้ชาย
- มีภาวะมีบุตรยาก
- มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
การวินิจฉัย แพทย์มักวินิจฉัยภาวะ PCOS โดยพิจารณาจากข้อมูลต่อไปนี้
- ซักประวัติเพื่อดูลักษณะของประจำเดือน ว่ามีประจำเดือนออกน้อย หรือขาดประจำเดือนหรือไม่
- ตรวจร่างกายเพื่อค้นหาอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น สิว หน้ามัน ขนดก ศีรษะล้าน รวมถึงลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น รอยดำบริเวณหลังคอหรือข้อพับ
- ตรวจอุลตร้าซาวน์ในอุ้งเชิงกราน เพื่อดูลักษณะถุงน้ำหลายใบในรังไข่
- อาจตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนเพศชายในกระแสเลือด ว่าสูงผิดปกติ หรือไม่ ในกรณีที่อาการแสดงไม่ชัดเจน
แนวทางการรักษา
การรักษาผู้ป่วย PCOS มีจุดประสงค์เพื่อ คุมรอบระดู รักษาอาการแสดงของฮฮร์โมนเพศชายที่สูง ควบคุมกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก รวมถึงรักษาภาวะมีบุตรยาก
โดยการรักษาแบ่งออกเป็นการใช้ยาและไม่ใช้ยา
- การรักษาโดยการไม่ใช้ยา จะมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย เพิ่มการเผาผลาญ ซึ่งจะสามารถช่วยให้มีการตกไข่ที่สม่ำเสมอขึ้น และลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิกได้
- การรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาเม็ดโปรเจสติน หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาเพื่อลดการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายได้
ทั้งนี้ หากมีอาการที่เข้าได้กับกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมินความเสี่ยง และวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกนรีเวชกรรม
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1571 , 1572