วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

ความรู้เด็ก   ลงวันที่

โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicellazoster (VZV) ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำบนผิวหนัง หรือสูดหายใจเอาละอองฝอยของสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ โรคนี้สามารถหายได้เอง หลังจากที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต โดยทั่วไปในเด็กอาการจะไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อในทารกแรกเกิดวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ นอกจากนี้การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงสองไตรมาสแรกอาจทำให้ทารกเกิดโรคอีสุกอีใสแต่กำเนิด (congenital varicellasyndrome) หลังจากเป็นอีสุกอีใสแล้วเชื้อ VZV ยังอยู่ใน dorsal root ganglia ของร่างกาย เมื่อร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแออาจได้รับการกระตุ้นเกิดเป็นโรคงูสวัด

ปฏิกิริยา

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจัดเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย มีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 -35 โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจะมีบวมแดงร้อนได้เล็กน้อยในตำ แหน่งที่ฉีดวัคซีน

ประมาณร้อยละ 3- 5 จะมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ และอีกร้อยละ 3- 5 จะมีผื่นแบบอีสุกอีใสขึ้นทั่วตัวโดยผื่นเหล่านี้จะมีเพียง 2-5 ตำแหน่งและอาจเป็นลักษณะของ maculopapular มากกว่าตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเกิดขึ้นภายในเวลา 5-26 วันหลังจากฉีดวัคซีน

ข้อพิจารณาด้านการสาธารณสุข

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจัดเป็นวัคซีนเผื่อเลือกไม่ได้อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับประเทศไทย วัคซีนยังมีราคาแพง อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า จึงยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่เด็กไทยทุกคน วัคซีนนี้จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนที่อาจให้เสริม สำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค สำหรับกลุ่มเสี่ยง บุคคลที่มีโอกาสไปสัมผัสหรือแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้สูงได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง บุคลากรทางการแพทย์ ครูหรือผู้ที่เลี้ยงเด็กจำนวนมาก รวมทั้งหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ วัคซีนสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ1 ปีขึ้นไป การตรวจคัดกรองก่อนการพิจารณาให้วัคซีน ในเด็กอาศัยประวัติป่วยเป็นอีสุกอีใสที่ได้จากบิดา มารดาซึ่งเชื่อถือได้ดี ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน ถ้าเคยเป็นโรคแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่ในผู้ใหญ่ประวัติเคยเป็นโรคมาก่อนเชื่อถือได้ แต่ถ้าให้ประวัติไม่เคยเป็นอาจไม่แน่ ผลการตรวจเลือดในผู้ใหญ่ที่ให้ประวัติไม่เคยเป็นอีสุกอีใส พบว่ามีภูมิคุ้มกันโรคแล้วร้อยละ 40.59อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วหากฉีดวัคซีนไม่มีผลเสียใดๆนอกจากสิ้นเปลือง

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่นในรายที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง การให้วัคซีนในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่โรคสงบแล้ว ควรพิจารณาเป็นกรณีไป โดยทั่วไปอาจพิจารณาให้วัคซีนในผู้ป่วย มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งของต่อมน้ำเหลือง ในระยะที่โรคสงบและหยุดยาเคมีบำบัด อย่างน้อย 3 เดือนเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4+T-cells มากกว่าร้อยละ 15สามารถรับวัคซีนได้
  2. ไม่ควรให้วัคซีนแก่ผู้ที่รับประทานสเตียรอยด์ ขนาดมากกว่า 2 มก./กก./วัน หรือ 20 มก./วัน นานมากกว่า 2 สัปดาห์ ถ้าจะให้วัคซีน ควรหยุดยาสเตียรอยด์อย่างน้อย 1 เดือน
  3. ผู้ที่ได้พลาสมา อิมมูโนโกลบูลิน หรือผลิตภัณฑ์จากเลือดมาไม่นาน ไม่ควรให้วัคซีนนี้ เพราะอาจรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยควรเว้นช่วงเวลาหลังจากได้รับผลิตภัณฑ์จากเลือด ก่อนจะให้วัคซีนนี้เช่นเดียวกับที่แนะนำสำหรับวัคซีน หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ในทำนองเดียวกันคนที่ได้วัคซีนนี้ไม่ควรรับเลือด พลาสมาหรืออิมมูโนโกลบูลินในระยะ 2 สัปดาห์หลังจากได้วัคซีน
  4. ไม่ควรให้วัคซีนนี้ในหญิงตั้งครรภ์ สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนหลังจากฉีดวัคซีน ถ้าให้วัคซีนโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ไม่ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการทำแท้ง
  5. ผู้ที่แพ้ gelatin และ neomycin แบบ anaphylaxisควรหลีกเลี่ยงการให้วัคซีน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง