การดูแลเด็กในช่วงเรียน online

ความรู้เด็ก   ลงวันที่

การดูแลเด็กในช่วงเรียน online

โดย แพทย์หญิงพิชยา พูลสวัสดิ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนที่เหมาะกับเด็กมากที่สุดคือการเรียนที่โรงเรียน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเรียน online เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สำหรับผู้ปกครองนับเป็นความท้าทายในการช่วยเหลือลูกในด้านการเรียน แต่หมอเชื่อว่าผู้ปกครองทุกท่านสามารถให้ความเชื่อเหลือลูกๆได้ดีที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ หมอจึงอยากแชร์และอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทบทวนการดูแลลูก ๆ ในช่วงที่ต้องเรียน online เพื่อให้การเรียนของเด็ก ๆ ได้ผลดีขึ้นและทุกคนในครอบครัวมีความสุขมากขึ้นค่ะ

  1. สถานที่

สถานที่เรียน online ควรเป็นมุมสงบ ไม่มีเสียงดัง ไม่มีสิ่งเร้ารบกวน ไม่ควรมีจอทีวีหรือจออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน ถ้ามีพี่น้องควรจัดที่นั่งแยกกันหรือแยกห้องเพื่อไม่ให้เด็กกวนกัน

  1. จัดตารางเวลา

ควรจัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา พยายามให้คล้ายกับเวลาที่ไปโรงเรียนให้มากที่สุด เช่น เวลาตื่นนอน อาบน้ำ กินข้าว เวลาเข้านอน เวลาทำการบ้าน หรือเวลาเล่น เป็นต้น การจัดตารางเวลาที่ดีและสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กมีวินัย ฝึกความรับผิดชอบ และช่วยลดความขัดแย้งเวลาเด็กไม่ยอมทำงานหรือมีข้อต่อรองเพราะติดเล่นได้ค่ะ

  1. พักสายตา

การจ้องหน้าจอนานทำให้ตาอ่อนล้า ตาแห้ง อาจมีตามัวได้ เด็ก ๆ ควรพักสายตาเป็นระยะโดยใช้หลัก 20/20/20 คือ พักสายตาจากจอทุก 20 นาที มองสิ่งของไกล 20 ฟุต นาน 20 วินาที และอย่าลืมกระพริบตาเป็นระยะเพื่อช่วยลดการเกิดตาแห้ง

นอกจากนี้ ตำแหน่งจอ ก็มีความสำคัญ โดยจะใช้หลัก 1/2/10 ตำแหน่งมือถือควรห่างจากตัวเรา 1 ฟุต คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุค 2 ฟุต และ ทีวี 10 ฟุต

  1. ขยับร่างกาย

เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายผ่านการเล่นหรือกีฬาอย่างน้อยวันละ 60 นาที นอกจากช่วยลดความอ้วนยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย

  1. กิจกรรมออฟไลน์

ไม่ควรละเลยกิจกรรมออฟไลน์ เช่น การอ่านนิทาน การเล่นบอร์ดเกม ออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ ทำงานบ้าน เป็นต้น

  1. กฎกติกาในการออนไลน์

ควรติดตามการใช้จอของเด็ก เลือกรายการที่เหมาะสม ตั้งกฎกติกาให้ชัดเจน เวลาใดที่ดูได้ และดูได้กี่ชั่วโมง โดยแนะนำไม่ควรดูจอเกิน  1 ชั่วโมงต่อวันในเด็กอายุ 2 – 5 ปี และควรเป็นรายการที่มีคุณภาพและเหมาะสมต่อวัย สำหรับเด็กโต ควรรักษาสมดุลของการใช้สื่อกับกิจกรรมอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น การทำงานบ้าน การเล่นบอร์ดเกม การออกกำลังกาย การทำการบ้าน รวมถึงกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ

สำหรับรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงสามารถดูได้เพิ่มเติมทาง

https://www.commonsensemedia.org

– https://pbskids.org

– สำหรับ youtube ในเด็กน้อยกว่า 13 ปี แนะนำให้ใช้ https://www.youtubekids.com แทน youtube ของผู้ใหญ่

นอกจากนี้ยังมี application ที่ช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลการใช้มือถือของลูก เช่น google family link, net care เป็นต้น นอกจากนี้ใน ios ยังสามารถดูระยะเวลาการใช้งาน application ต่าง ๆ ได้ที่ screen time ใน setting

  1. ชมเชย ให้กำลังใจกันและกัน

อย่าลืมให้คำชมเด็ก ๆ ที่ร่วมมือเรียนออนไลน์หรือทำตามกติกาที่ตั้งไว้ หมั่นถามความรู้สึกหรือความเครียดของเด็ก เปิดใจและพูดคุยกัน สำหรับผู้ปกครอง ควรให้กำลังใจกันและกัน หมั่นสำรวจอารมณ์และความเครียดของตนเอง หากพบว่าเกิดความเครียด ผู้ปกครองควรหาทางช่วยเหลือ เช่น จากครู โรงเรียน หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ควรหาเวลาพักผ่อนและหากิจกรรมคลายเครียด เพราะหากผู้ปกครองมีความเครียดแล้วไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับลูกได้

แหล่งอ้างอิง

AAP, ราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์ และชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง