- หน้าแรก
- บทความ
- ความรู้ COVID19
- การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
เมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลงจนควบคุมได้แล้ว จะต้องมีมาตรการปลด lock down แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังคงต้องเน้นนโยบาย Social distancing , hand hygiene เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหม่อย่างรุนแรงดังเช่นเห็นได้จากต่างประเทศ ดังนั้น บทความนี้จึงขอเสนอวิธีการปฏิบัติตัวของเด็กขณะมีมาตรการ lock down ทั้งในเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่บ้าน เมื่อต้องเข้าชุมชนเช่นไปสถานศึกษา การยังคงมีกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตในเด็กก่อนวัยเรียนและเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น และการไปโรงพยาบาลเพื่อรับวัคซีนหรือเมื่อมีภาวะเจ็บป่วย เป็นต้น
การดูแลปฏิบัติตัวในเด็กเมื่ออยู่บ้านและที่ชุมชน
ปัจจัยสำคัญที่สามารถลดการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ให้ช้าลงคือ ลดการไปพบปะผู้คนจำนวนมาก สอนให้เด็กรู้จัก Social distancing เช่น ลดกิจกรรมในสถานศึกษาที่ต้องเข้าร่วมกับคนหมู่มาก อย่างไรก็ตาม เด็กยังคงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรจัดเวลาที่จะให้เด็กได้ออกกำลังกายบ้าง โดยทางหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แบ่งความเสี่ยงในการทำกิจกรรมเพื่อออกกำลังกายเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- ความเสี่ยงต่ำสุด เช่น การเล่นในบ้านคนเดียวหรือกับคนในครอบครัว
- ความเสี่ยงเล็กน้อย เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม
- ความเสี่ยงปานกลาง เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรแข่งขันเป็นกลุ่ม
- ความเสี่ยงมาก เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมแข่งขันเป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก แต่บุคคลมาจากพื้นที่เดียวกัน
- ความเสี่ยงสูงสุด เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมแข่งขันเป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก แต่บุคคลมาจากต่างพื้นที่กัน
กิจกรรมการออกกำลังกายที่แนะนำในเด็กและวัยรุ่น
กิจกรรมการออกกำลังที่แนะนำในเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 3-5 ปี) ได้แก่
- ควรมีกิจกรรมทางกายตลอดวันเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการ แต่ไม่ควรให้เด็กไปเล่นเป็นกลุ่มกับเด็ก ๆ คนอื่น
- ผู้ปกครองควรส่งเสริมผ่านทางการเล่นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันและจำกัดเวลาบนหน้าจอ กิจกรรมการออกกำลังที่แนะนำในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-17 ปี)
- เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นควรออกกำลังอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง 3 วันต่อสัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ ออกกำลังแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง การออกกำลังที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกเช่น วิ่ง กระโดด ออกกำลังที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเช่น ปีนป่าย วิดพื้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 ควรเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการสัมผัสทางกายน้อย เช่น ขี่จักรยาน แบดมินตัน ควรเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกัน (เช่นกีฬาที่มีผู้เล่นหลายคน) และระยะเวลาการเล่นที่ต้องพบผู้อื่นไม่ควรนาน เพื่อลดระยะเวลาการเสี่ยงสัมผัสโรค ที่สำคัญ หากออกนอกบ้านควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
นอกจากนี้ยังมีหลักปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดย
- สอนให้เด็กรู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้องเช่น ก่อน-หลัง รับประทานอาหาร ใส่และถอดหน้ากาก จับบริเวณใบหน้า โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือ 60 %แอลกอฮอล์เจลขึ้นไป นานอย่างน้อย 20 วินาที และสอนปฏิบัติตามแนวทาง Social distancing ในเด็กโต
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะเด็กอาจไม่รู้จักเอาหน้ากากออกเองเมื่อหายใจไม่ออก เด็กทารกให้คลุมผ้าที่รถเข็นแทนเพื่อให้เด็กยังสามารถหายใจได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ๆมีผู้คนอยู่รวมกันมากๆ หรือที่จะใกล้ชิดผู้ป่วยหรือไปเยี่ยมพบปะผู้ใหญ่ที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
- ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ห้องน้ำ รวมทั้งของเล่น ฯลฯ เป็นประจำ ด้วยน้ำยาฟอกขาวเจือจาง 1 ส่วนในน้ำ 99 ส่วน (ความเข้มข้น 0.05% หรือเท่ากับ 500 ppm) สำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะสามารถใช้ 70% แอลกอฮอล์ทำความสะอาดได้ หากเป็นผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอกและใช้น้ำอุณหภูมิ 70 °C นอกจากนั้นเสื้อผ้าผู้ป่วยสามารถซักรวมกับผู้อื่นได้
- คอยหมั่นสังเกตดูแลสุขภาพเด็กอยู่เสมอหากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรค COVID-19 ให้โทรปรึกษาหน่วยงานสถานพยาบาล ระมัดระวังไม่ให้เด็กใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวและหากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาโรงพยาบาล
- ผู้ปกครองคอยหมั่นสังเกตว่าเด็กมีความเครียดหรือความกังวลใจหรือไม่ กระตุ้นให้เด็กถามหรือระบายความรู้สึกออกมาหากมีความไม่สบายใจ ผู้ปกครองมีหน้าที่อธิบายให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค COVID-19 ที่ถูกต้อง
- ป้องกันการถูกตีตราหากมีเด็กเจ็บป่วยโดยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
- ผู้ปกครองควรช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่นช่วยเด็กในการศึกษาทางออนไลน์
- คำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเด็กต้องเข้าสู่สถานศึกษา และคำแนะนำสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากร
- เด็กนักเรียน ครู บุคลากร เมื่อป่วยไม่ควรมาสถานศึกษา
- สถานศึกษาควรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการล้างมือให้บุคลากร ครูและเด็กนักเรียน โดยให้ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 60% แอลกอฮอล์เจลขึ้นไปนอกจากนี้ควรทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณสถานศึกษาทุกวัน
- สถานศึกษาควรจัดหาน้ำ สบู่ แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดให้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ควรทิ้งและกำจัดขยะทุกวัน
- ควรรณรงค์ให้มีนโยบาย Social distancing ในสถานศึกษาเช่น จำกัดคนรวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ
- เพิ่มระบบการหมุนเวียนและการถ่ายเทอากาศ เช่นเปิดหน้าต่าง ใช้เครื่องปรับอากาศเมื่อจำเป็น
การให้ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมตามอายุ
- เด็กก่อนวัยเรียน
เน้นย้ำเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม อาจใช้ตุ๊กตาเป็นสื่อกลางสาธิตการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ฝึกให้เด็กล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างถูกต้อง นาน 20 วินาที โดยใช้เพลงเป็นสื่อกลางช่วยประกอบการฝึก
หาวิธีประเมินผลและติดตามการล้างมือของเด็ก ให้รางวัลเมื่อเด็กสามารถทำได้ดี บ่อยและถูกต้อง
สอนวิธีการปฏิบัติตัว หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง รู้สึกเหนื่อย และการปฏิบัติตัวเมื่อพบคนเจ็บป่วย เช่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย
ให้เด็กรู้จักการเว้นระยะห่าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นระยะช่วงแขนของเด็ก อาจใช้คำว่า “กางปีก” เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น และมีระยะห่างเพียงพอที่จะไม่สัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อน
- นักเรียนชั้นประถม
คอยรับฟังความกังวลและตอบคำถามเมื่อเด็กเกิดข้อสงสัย หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่มากเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึกและอธิบายความรู้สึก
เน้นย้ำเรื่องวิธีการปฏิบัติตัวให้ตัวเพื่อให้ปลอดภัย ห่างไกลจากโรค เช่น การรักษาระยะ Social distancing หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดหรือการไปในที่ชุมชน พฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นล้างมือบ่อย ๆ การใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม
ช่วยให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรค การป้องกันโรค อย่างง่าย ๆ เช่น สาธิตว่าโรคแพร่กระจายได้อย่างไร ผ่านการใช้สเปรย์สีพ่นลงกระดาษขาว และให้สังเกตว่าละอองฝอยกระจายไปได้ไกลเท่าใด
สาธิตให้เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือนาน 20 วินาที เช่น ทากากเพชรลงบนมือเด็กเปรียบเทียบกับกากเพชรที่เหลืออยู่หลังการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกต้อง
ฝึกให้เด็กวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- นักเรียนชั้นมัธยมตอนต้นและตอนปลาย
ผู้ปกครองควรคอยรับฟังความกังวลและตอบคำถามเด็ก
เน้นย้ำความสำคัญของของเรื่อง Social distancing การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นล้างมือบ่อย ๆ การใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เด็กสามารถเป็นตัวอย่างในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับคนในครอบครัวได้
ส่งเสริมการป้องกันและจัดการกับปัญหาการถูกตีตรา เปิดโอกาสให้เด็กได้สื่อสารหรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม
ส่งเสริมให้มีตัวแทนเด็กนักเรียนที่ประกาศหรือรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายสุขภาพของสถานศึกษาเช่นผ่านทางโปสเตอร์
รวบรวมความรู้เกี่ยวกับโรค COVID-19 ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับ ไวรัส การแพร่กระจาย การติดต่อของโรคและความสำคัญของการรับวัคซีน ด้านสังคม เช่นประวัติศาสตร์ของการระบาด การปรับเปลี่ยนนโยบายและความปลอดภัยทางสาธารณสุขในการควบคุมการระบาดของโรค นอกจากนี้ควรมีบทเรียนเกี่ยวกับด้านการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เด็กนักเรียนคิดวิเคราะห์และสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางวิธีการปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อเตรียมตัวเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา
สถานศึกษาควรมีแนวทางการปฏิบัติหากเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19 ในชุมชนหรือเมื่อพบผู้ป่วยโรค COVID-19 ในสถานศึกษาเพื่อจะได้สามารถควบคุม ลดการแพร่ระบาดหรือบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์โรค COVID-19 โดยควรแบ่งแนวทางเป็น 4 สถานการณ์ดังนี้
- วางแนวทางแผนการรับมือและเตรียมตัวแม้เมื่อไม่มีการระบาดของโรค COVID-19 ในชุมชน
- คอยติดตามสถานการณ์ข่าวสาร ข้อมูลใหม่ ๆ รวมทั้งมีการวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินตามแนวทางของสถานพยาบาล
- พัฒนาการให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ
- ให้ความรู้แก่บุคลากรเพื่อจะได้สอนนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นการล้างมืออย่างถูกต้อง
- ทำความสะอาดสถานศึกษาและพื้นผิวเป็นประจำ
- เฝ้าระวังและติดตามนักเรียนหรือบุคลากรในสถานศึกษาที่เจ็บป่วยหากมีผู้เจ็บป่วยด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจให้ปรึกษาบุคลากรในสถานพยาบาล เนื่องจากอาการนั้นอาจคล้ายคลึงกับโรค COVID-19
- เลื่อนการรรวมตัวหรือการรวมกลุ่มในสถานศึกษาโดยไม่จำเป็น
- บุคลากรในสถานศึกษาและนักเรียนเมื่อเจ็บป่วยให้หยุดอยู่บ้าน
- เมื่อมีผู้เจ็บป่วยโรค COVID-19 จำนวนเล็กน้อยถึงปานกลางในชุมชน
- ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลเพื่อให้ช่วยประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงนั้นเพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว
- วางแนวทางและเน้นย้ำถึงนโยบาย Social distancing เช่นลดการรวมตัวในกิจกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของนักเรียนในพื้นที่ส่วนกลาง จำกัดจำนวนคนในการเรียนการสอนบางวิชาเป็นต้น
- พิจารณาที่จะผ่อนปรนระเบียบให้ตามความจำเป็นกับนักเรียนที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อโรค COVID – 19 รุนแรง หรือผู้ปกครองที่มีความกังวล
- เมื่อมีผู้ป่วยโรค COVID-19 และมีการแพร่ระบาดในชุมชนชัดเจน
- ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ช่วยประเมินสถานการณ์ถึงการระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงนั้นเพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว
- พิจารณาประกาศหยุดสถานศึกษาต่อ
- เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันโรค COVID-19 ในสถานศึกษาถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบาดในชุมชนก็ตาม
- ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลที่รับผิดชอบกับพื้นที่บริเวณนั้น ๆ โดยตรง
- ให้นักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษานั้นหยุด 2-5 วันและยกเลิกกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเช่นการเรียนการ สอนที่ต้องรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องได้ลงสอบสวนและประเมินถึงสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษานั้น ๆ
- ทางสถานศึกษาควรให้ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรค COVID-19 อย่างถูกต้องทั้งกับนักเรียน ผู้ปกครองและบุคลากรและลดการถูกตีตรา (หากมีผู้ป่วยเป็นนักเรียนหรือบุคลากร) ในสถานศึกษานั้น ๆ
- ทำความสะอาดในสถานศึกษานั้น ๆ เช่นห้องน้ำ ห้องเรียน หรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน รวมทั้งพื้นผิว ด้วยน้ำยาฟอกขาวปริมาณ 5 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 1 แกลลอนหรือสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- ขณะประกาศหยุดสถานศึกษาชั่วคราวนั้น ยังคงสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนต่อไปแต่อาจใช้แนวทางอื่น เช่น ทางออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้บริหารสถานศึกษาควรปฏิบัติตามแนวทางตามสถานพยาบาลในเรื่องสามารถให้นักเรียนหรือบุคลากรสามารถกลับมายังสถานศึกษาได้เมื่อใด
คำแนะนำในการให้วัคซีนแก่เด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19
ถึงแม้จะมีการระบาดของโรค COVID-19 แต่การได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ควรยังต้องดำเนินต่อไป เนื่องจากหากเราหย่อนมาตรการ การให้วัคซีนนั้นอาจมีการระบาดของโรคอื่น ๆ เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฯลฯ ตามมาภายหลังซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน และจะทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย เช่น เพิ่มอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในชุมชน สังคมได้ ขณะที่ปัจจุบันโลกยังคงต้องเผชิญต่อสู้กับปัญหาการระบาดโรค COVID-19 อยู่แล้ว โดยทางปฏิบัติสามารถให้วัคซีนหลายเข็มในวันเดียวกันซึ่งมีความปลอดภัยและได้ผลดี และพยายามจัดระบบบริการการให้วัคซีนให้มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารกแรกเกิด เด็กเล็กที่ต้องให้วัคซีน primary series วัคซีนหลังสัมผัสโรค วัคซีนป้องกันเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนนิวโมค็อกคัสโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง วัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ควรงดการให้วัคซีนแบบกลุ่มก้อน
วัคซีนที่ควรต้องฉีดตรงตามกำหนดได้แก่
วัคซีนสำหรับทารกแรกเกิด ได้แก่ วัคซีนบีซีจีและวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเข็มแรกเกิด ควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน
วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรคอีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นต้น
วัคซีนที่เลื่อนออกได้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์
สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2-2 ½ ปี เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกันโรคที่พบได้และมีอาการรุนแรงในเด็กเล็ก การไม่ฉีดวัคซีนจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
Primary series Vaccination มีดังต่อไปนี้
HBV 3 เข็มแรก สำหรับทารกแรกเกิด 1-2 เดือนและ 6 เดือน
สำหรับทารกที่คลอดจากมารดาเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี และแรกเกิดไม่ได้รับ HBIG ไม่ควรเลื่อนวัคซีนเข็มที่ 2 ตอนอายุ 1 เดือน
วัคซีน DTP-HBV-Hib 3 เข็มแรก สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน
วัคซีนโปลิโอทั้งชนิดหยอดและฉีด (OPV, IPV) สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน
วัคซีนโรต้า สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ (6 เฉพาะ RotateqTM ) เดือน
Pneumococcal conjugate vaccine (PCV) สำหรับเด็กอายุ 2, 4, (+6 เดือน)
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (live) เข็มแรกสำหรับเด็กอายุ 9-12 เดือนและเข็มที่สองที่อายุ 2-2 ½ ปี
MMR เข็มแรกสำหรับเด็กอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองอายุ 1 ½ -2 ½ ปี โดยเฉพาะเข็มแรกไม่ควรฉีดช้าเกินไป เพราะโรคหัดยังระบาดในประเทศไทยและมีอัตราการเสียชีวิตสูงในเด็กเล็ก
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในปีแรกที่ฉีดให้ 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
วัคซีนที่เลื่อนออกได้ 2-4 สัปดาห์
วัคซีนสำหรับเด็กที่เป็นเข็มกระตุ้นที่ไม่ใช่ primary series มีดังต่อไปนี้
วัคซีน DTP และ OPV ครั้งที่ 4 และ 5 ตอนอายุ 1 ½ ปี และ 4 ปี
วัคซีน PCV ครั้งที่ 3 หรือ 4 ที่เป็นเข็มกระตุ้นตอนอายุ 12-15 เดือน
วัคซีนไวรัสตับอักสบเอ สำหรับชนิดเชื้อไม่มีชีวิต เข็มที่ 2 สามารถให้ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน ชนิดเชื้อมีชีวิตฉีดเข็มเดียวได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือนขึ้นไป
วัคซีนอีสุกอีใส เข็มแรกสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้ที่อายุ 12-18 เดือนเข็มที่ 2 สามารถให้ที่อายุ 2-4 ปี โดยห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
วัคซีนที่เลื่อนออกไปได้มากกว่า 1 เดือนหรือรอจนสถานการณ์การระบาดสงบลง
ได้แก่วัคซีนที่ฉีดให้ในเด็กโตหรือวัยรุ่น
วัคซีน HPV
วัคซีน TdaP/Tdap ที่เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 11-12 ปี
บทสรุป
โรค COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่และเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในวงกว้างทั่วโลก อย่างไรก็ตามต้องรักษามาตรการที่สำคัญคือ Social distancing และพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่น การล้างมือ ฯลฯ และส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมออกกำลังกายเพราะนอกจากจะกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็กก่อนวัยเรียนแล้วยังส่งเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรงอีกด้วย สถานศึกษาควรติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าโรค COVID-19 มักมีอาการไม่รุนแรงในเด็กแต่ก็เริ่มมีรายงานการเกิดกลุ่มอาการ multisystemic inflammatory syndrome ในเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ สอนและรับฟังความกังวลของเด็ก ที่สำคัญไม่ควรเว้นการรับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยงและวัคซีนช่วงแรกของชีวิต
เอกสารอ้างอิง
- พญ.ปิยนันท์ โฆษิดาพันธุ์, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19. หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกกุมารเวชกรรม
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1121