- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- โรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็ก
ความรู้ทั่วไป, ความรู้เด็กลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565

โรคอ้วนในเด็ก
โดย นายแพทย์ภัคนันท์ ตรงจิตการุณย์ กุมารแพทย์
โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อในเด็ก เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมเกินปกติจนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ
ในประเทศไทย จากผลการสำรวจข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข ปี พ.ศ.2564 พบเด็กวัยเรียน (อายุ6-14ปี) มีน้ำหนักเกินและอ้วนร้อยละ 11.09
สาเหตุโรคอ้วน
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น บิดามารดาอ้วน, มารดาเป็นเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์, ทารกแรกเกิดน้ำหนักมาก, โรคต่อมไร้ท่อ, โรคทางพันธุกรรม
- พฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การบริโภคอาหารไขมันสัตว์ อาหารแป้งและน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
- การออกกำลังกายและพฤติกรรมไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ตัวอย่างเช่น เด็กที่ไม่ออกกำลังกาย ดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกมส์ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้จากอาหาร และพลังงานที่ใช้ของร่างกาย
การวินิจฉัยโรคอ้วน คำนวณจาก
- การวัดน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง แบ่งตามอายุ และเพศ ที่มีค่าสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน
- การวัดดัชนีมวลกาย (น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง) มีค่าสูงมากกว่า 2 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน
ภาวะแทรกซ้อนโรคอ้วนในเด็ก
- ระบบหายใจ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรน โรคภูมิแพ้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
- ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน กลุ่มอาการเมตาบอลิก
- ระบบทางเดินอาหารและตับ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ขาโก่ง โรคหัวกระดูกสะโพกเลื่อน กระดูกหักง่าย
- ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีผื่นสีน้ำตาลดำหนาบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ รอยแตกบริเวณหน้าท้อง และผื่นแดงบริเวณข้อพับเกิดจากการเสียดสี
- สภาพจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ถูกล้อเลียน ขาดความเชื่อมั่น แยกตัวจากสังคม
การรักษา
เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตปกติ และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กและครอบครัว ในด้านโภชนาการ พฤติกรรม และจิตใจ
- ปรับลดอาหารพลังงานสูง เช่น อาหารประเภทแป้ง รสหวาน ไขมันอิ่มตัว และอาหารรสเค็ม
- เพิ่มอาหารชนิดกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักผลไม้ไม่หวาน
- บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่เป็นอาหารหลากหลาย และบริโภคครบ 3 มื้อ เป็นเวลา ไม่งดอาหารมื้อเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด ผัดน้ำมัน เปลี่ยนเป็นอาหารชนิดต้ม นิ่ง ตุ๋น หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารจานด่วน
- ควรดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ งดน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ วันละ 30-60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง โดยกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
- เด็กอายุ 2-6 ปี เช่น วิ่ง กระโดดเชือก เตะลูกบอล ปีนป่ายเครื่องเล่น ว่ายน้ำ เป็นต้น
- อายุ 7-10 ปี เช่น โยนรับลูกบอล เตะลูกบอล ปั่นจักรยาน แบดมินตัน ปิงปอง เทนนิส เป็นต้น
- อายุ 10 ปีขึ้นไป เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
- ลดกิจกรรมที่เคลื่อนไหว เช่น กำหนดเวลาดูโทรทัศน์และเล่มเกมส์ รวมกันวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
- สร้างแรงจูงใจ และฝึกวินัยในการบริโภคอาหารและออกกำลังกาย ให้คำชมเชยเมื่อทำได้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตำหนิ การลงโทษ
- พ่อแม่และครอบครัวเป็นแบบอย่างของการมีสุขนิสัยที่ดี ในการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกกุมารเวชกรรม
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1121
บทความที่เกี่ยวข้อง
GJ E-Magazine เล่มที่ 31
GJ E-Magazine ฉบับที่ 31 (เดือนเมษายน 2568) “ผู้สูงอายุ […]
โยโย่เอฟเฟกต์ (Yo-Yo Effect) : ทำไมการลดน้ำหนักผิดวิธีอาจทำให้คุณอ้วนขึ้นกว่าเดิม
Yo Yo Effect โยโย่เอฟเฟกต์ : ทำไมการลดน้ำหนักผิดวิธีอาจ […]
ถุงใต้ตาและร่องใต้ตา
ถุงใต้ตาและร่องใต้ตา (Baggy Eyelid and Tear Trough Defo […]
GJ E-Magazine เล่มที่ 30
GJ E-Magazine ฉบับที่ 30 (เดือนมกราคม 2568) “การรักษาด้ […]