ผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19

ความรู้ COVID19, ความรู้เด็ก   ลงวันที่

ผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19

พญ.พิมพิกา หาญวัฒนานุกุล (กุมารแพทย์ทั่วไป)

ในสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉิน เด็ก ๆ จะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต ฉุกเฉิน รุนแรง ในรูปแบบแตกต่างกันไป อาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือไม่จดจ่อ เป็นอาการสำคัญที่พบได้บ่อยมากขึ้น เด็กส่วนใหญ่ที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจเพียงพอ จะสามารถปรับตัวและเรียนรู้การจัดการอารมณ์ได้เมื่อได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากพ่อแม่ เพื่อนและคนรอบตัว อย่างไรก็ตาม มีเด็กบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่รุนแรง เช่น วิตกกังวลมาก ซึมเศร้า หรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้ โดยความเสี่ยงของเด็กในกลุ่มนี้ ได้แก่ การมีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่เดิม เคยมีประสบการณ์ที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ครอบครัวไม่มั่นคง หรือมีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กสามารถสังเกตเห็นและมองหาเด็ก ๆ ที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยสังเกตจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ดังต่อไปนี้

  1. วัย 0-5 ปี

– ติดพ่อแม่หรือผู้ดูแลมาก

– พฤติกรรมถดถอยไปจากช่วงวัยปกติ เช่น ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน

– เปลี่ยนพฤติกรรมการกินการนอน

– กลัวความมืดหรือกลัวในสิ่งที่ไม่เคยกลัวมาก่อน

– ร้องไห้งอแงและหงุดหงิด

– หยุดพูด

– ไม่เล่นหรือเล่นแค่อย่างซ้ำ ๆ

  1. วัย 6-12 ปี

– หงุดหงิดหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว

– ฝันร้าย

– พูดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ

– แยกตัวไม่เข้าสังคมหรือไม่อยากรวมกลุ่ม

– ไม่อยากไปโรงเรียน

– รู้สึกและแสดงออกถึงความกลัว

– ไม่จดจ่อ ไม่มีสมาธิ

  1. วัย 13-18 ปี

– อยู่ไม่นิ่ง

– ไม่จดจ่อ ไม่มีสมาธิ

– แยกตัว ซึมเศร้า

– มีพฤติกรรมเสี่ยง ก้าวร้าว รุนแรง ต่อต้านสังคมเพิ่มขึ้น

– ท้าทายต่ออำนาจต่างๆมากขึ้น เช่น ต่อพ่อแม่ ครู

– ติดหรือพึ่งพิงกลุ่มเพื่อนมาก หรือติดพึ่งพิงบางอย่างมากขึ้น

– เปลี่ยนพฤติกรรมการกินการนอน

หากผู้ปกครองสังเกตเห็นเด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ นอกจากนั้น ผู้ปกครองเองควรดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างใกล้ชิด จัดการอารมณ์ตนเองอย่างเหมาะสม สร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีภายในครอบครัวเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย

อ้างอิง: UNICEF, สสส.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง