มะเร็งตับทุกระยะ…เราดูแลให้

มะเร็งตับทุกระยะ…เราดูแลให้

โดย ทีมแพทย์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

มะเร็งตับ (Hepatocellular Carcinoma) จัดเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับต้น ๆ ถือเป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อยในแต่ละปี ซึ่งในระยะแรก อาจไม่มีอาการใด แต่พบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี ไปจนถึงอาการปวดจุกแน่นท้อง คลำได้ก้อนบริเวณชายโครงด้านขวา หรือรุนแรงจนตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ขาบวมในระยะท้าย

แม้ฟังดูอาจเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เรามีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับทุกระยะ ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา บุคลากรสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยและเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้เราพร้อมดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ

เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ป่วยตับแข็งหรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยใช้อัลตราซาวน์และเจาะเลือดตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ

หากมีความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจละเอียดเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นอกจากนี้ หากผลตรวจยังไม่ชัดเจน อาจมีการเจาะชิ้นเนื้อตับส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษา

ในส่วนของการรักษานั้น จะแบ่งตามความรุนแรง

  • ระยะต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตับและทางเดินน้ำดี (HPB surgeons) หรือจะเป็นการจี้ก้อนด้วยเข็มความร้อน (Radiofrequency ablation; RFA, Microwave ablation; MWA), เข็มความเย็น (Cryoablation) หรือมีดนาโน (Irreversible electroporation ; IRE) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษา
  • ระยะกลาง มีการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะจุด (Transarterial chemoembolization; TACE) โดยจะฉีดยาผ่านสายสวนหลอดเลือดแดงเข้าไปบริเวณก้อนมะเร็งโดยตรง ทำให้ได้ยาที่ความเข้มข้นสูงเฉพาะบริเวณก้อนมะเร็ง แต่มีผลต่อร่างกายส่วนอื่นน้อยมาก แผลเล็ก ฟื้นตัวไว
  • ระยะลุกลาม จะให้การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดโดยอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง
  • ระยะสุดท้าย แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่เรามีการดูแลรักษาแบบประคับประคองโดยทีมสหสาขาวิชาชีพนำโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับระยะใดนั้น ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยอายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย โดยมีการตรวจติดตามการทำงานของตับ ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการทำหัตถการต่าง ๆ

นอกจากนี้ เพื่อการดูแลคนไข้อย่างไร้รอยต่อ ทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จัดการประชุมสหสาขาวิชาชีพ (Tumor board) เป็นประจำทุกเดือน โดยเป็นการรวมตัวของแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษาคนไข้ให้รอบด้าน นำไปสู่ทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย

ดังนั้น ขอให้มั่นใจได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับระยะใด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกพร้อมดูแลอย่างเต็มความสามารถ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย…อย่างที่เคยเป็นเสมอมา

 

===========================================

 

ภาพที่ 1 ผู้ป่วยรายหนึ่งตรวจพบก้อนในตับด้านขวาขนาด 15 เซนติเมตร จากการตรวจอัลตราซาวน์ จึงได้มาทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม

ทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร อายุรแพทย์โรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ ได้ลงความเห็นร่วมกันถึงแนวทางการรักษาในผู้ป่วยรายนี้ดังนี้

  1. เจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัย (Biopsy)
  2. ให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดง (TACE) เพื่อควบคุมก้อนมะเร็ง
  3. อุดหลอดเลือดดำพอร์ทอลในตับ (PVE) เพื่อให้เนื้อตับส่วนดีเกิดการขยายตัวเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด
  4. ผ่าตัดตับด้านขวาออกเพื่อกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย (Right hepatectomy)

ภาพที่ 2 ผู้ป่วยได้รับการเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนในตับ ผลการตรวจทางพยาธิวิทยายืนยันการวินิจฉัยเป็นมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)

ภาพที่ 3 ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามขั้นตอน โดยเริ่มจากการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดง (TACE) และอุดหลอดเลือดดำพอร์ทอลในตับ (PVE) เพื่อให้เนื้อตับส่วนดีเกิดการขยายตัวเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัด

ภาพที่ 4 ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดตับ (Right hepatectomy) โดยสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้ทั้งหมด

ภาพที่ 5 ผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบก้อนมะเร็งตับอยู่ติดท่อทางเดินน้ำดี จึงได้รับการรักษาโดยการจี้ก้อนด้วยเข็มไฟฟ้า หรือ มีดนาโน (IRE : Irreversible Electroporation)

ภาพที่ 6 ผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบก้อนมะเร็งตับอยู่ติดท่อทางเดินน้ำดี จึงได้รับการรักษาโดยการจี้ก้อนด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดง (TACE) และเข็มความเย็น (Cryoablation) เมื่อตรวจติดตาม MRI หลังรักษาพบว่าก้อนมะเร็งได้ถูกทำลายไปจนหมดและไม่พบท่อทางเดินน้ำดีอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกรังสีร่วมรักษา

  • โทร 02 849 6600 ต่อ 3155,2553

คลินิกศัลยกรรมทั่วไป

  • โทร 02 849 6600 ต่อ 2591,2592

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]