- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- Hepatitis
Hepatitis
ความรู้ทั่วไป, ความรู้โรคทางอายุรกรรมลงวันที่ 4 มีนาคม 2563

โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่รู้จักโรคไวรัสตับอักเสบน้อยมาก ซึ่งตับอักเสบนั้นเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 12 จากการตายของโรคมะเร็งทั่วโลก และมีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ
โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังนั้นมีสองชนิด คือไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
โรคไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัสตับอักเสบบีนั้นสามารถติดต่อได้ 3 ทาง ได้แก่ เลือดหรือสารคัดหลั่ง จากมารดาสู่ทารก และทางเพศสัมพันธ์
- การติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่งนั้นหมายรวมถึงการสักตามที่ๆต่าง เช่น สักคิ้ว สักยันต์ ที่ทำความสะอาดอุปกรณ์ไม่เพียงพอ การใช้มีดโกนร่วมกัน หรือการเจาะหู เจาะลิ้น โดยใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคนี้ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยทั้งระหว่างชายรักชาย และชายกับหญิง
- การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ในมารดาที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถทำให้ลูกติดเชื้อได้ และเป็นสาเหตุการติดเชื้อที่สำคัญที่สุดของโรคไวรัสตับอักเสบบีในอดีต
- การดำเนินโรค หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ บางคนจะมีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง แต่บางคนก็ไม่มีอาการได้ หลังจากนั้นผู้ป่วยบางคนจะกลายเป็นผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อตั้งแต่เกิดจากมารดามักจะเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ช่วงที่มีตับอักเสบเรื้อรัง อาจจะไม่มีอาการได้ มักทราบจากผลเลือดว่าค่าตับมีการอักเสบ ต่อมาถ้าไม่ได้รักษา จะเกิดตับแข็ง ผู้ป่วยที่ตับแข็งเป็นมากมักมีอาการท้องโต ขาบวม ตัวเหลือง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ
- การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี นั้นประกอบด้วยการประเมินระยะของโรค การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและ การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ
- การประเมินระยะของโรคนั้น จะต้องประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใด เช่น ระยะพาหะ ระยะตับอักเสบเรื้อรัง หรือ เกิดตับแข็งไปแล้ว โดยจะประเมินด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อการทำงานของตับ อัลตราซาวน์ตับและการตรวจพังผืดตับ การตรวจพังผืดตับนั้น เพื่อดูระยะก่อนที่จะเกิดตับแข็ง เพื่อให้รักษาโรคและป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็ง โดยต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการวัดพังผืดตับ ลักษณะคล้ายเครื่องอัลตราซาวน์
- กรณีที่ผู้ป่วยมีพังผืดในตับหรือมีตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็ง จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส เพื่อควบคุมโรคและจะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับได้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้น เชื้อจะดื้อยาได้
- การตรวจคัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี จะตรวจทุก 6 เดือนในกลุ่มเสี่ยงมะเร็งตับ ได้แก่ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี ผู้ป่วยตับแข็งหรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
- การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดผู้ป่วย และในรายที่คู่สมรสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้
- การดูแลตัวเองในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี คือ งดสุรา และ ยาสมุนไพร เพราะเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ ในผู้ป่วยที่ตับแข็งแล้ว แนะนำให้งดอาหารรสเค็ม รับประทานอาหารที่สุกสะอาด และรับประทานอาหารที่มีโปรตีนให้มากขึ้น
โรคไวรัสตับอักเสบซี
- ไวรัสตับอักเสบซีนั้นสามารถติดต่อได้ 2 ทาง ได้แก่ เลือดหรือสารคัดหลั่ง และทางเพศสัมพันธ์
- การติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่งนั้นหมายรวมถึงการสักตามที่ๆต่าง เช่น สักคิ้ว สักยันต์ ที่ทำความสะอาดอุปกรณ์ไม่เพียงพอ การใช้มีดโกนร่วมกัน หรือการเจาะหู เจาะลิ้น โดยใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือในผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดฉีดเข้าเส้นที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคนี้ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยกลุ่มชายรักชายจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง
- บุคคลกลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบซี คือคนที่มีโอกาสสัมพัทธ์เลือดผู้ติดเชื้อ ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มคนที่เคยติดคุก คนที่ใช้สารเสพย์ติดฉีดเข้าเส้น คนที่ได้รับเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปีพ.ศ. 2535 ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด
- การดำเนินโรคของไวรัสตับอักเสบซี โดยหลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ และเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง 60-85% ในกลุ่มนี้จะทำให้เกิดตับแข็ง 20-30% และในคนไข้ตับแข็งจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ และตับวายจนเสียชีวิต 25-50% ส่วนมากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ ส่วนน้อยอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ตัวเหลืองได้ เมื่อโรคเป็นมานาน เกิดตับอักเสบเรื้อรังไปเรื่อยๆ จะเกิดตับแข็ง ทำให้มีอาการท้องโต ตัวเหลืองตาเหลือง
- การรักษา ปัจจุบันโรคไวรัสตับอักเสบซีมียาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 90% โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ถึงแผนการรักษา
- เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีและซี บางคนจะไม่มีอาการ ดังนั้นจึงแนะนำให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบีและซีควรเจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองโรคเสมอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกอายุรกรรมทางเดินอาหาร
- โทร 02 849 6600 ต่อ 2130,3077
คลินิกสร้างเสริมสุขภาพ
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1059-1061
บทความที่เกี่ยวข้อง
GJ E-Magazine เล่มที่ 31
GJ E-Magazine ฉบับที่ 31 (เดือนเมษายน 2568) “ผู้สูงอายุ […]
โยโย่เอฟเฟกต์ (Yo-Yo Effect) : ทำไมการลดน้ำหนักผิดวิธีอาจทำให้คุณอ้วนขึ้นกว่าเดิม
Yo Yo Effect โยโย่เอฟเฟกต์ : ทำไมการลดน้ำหนักผิดวิธีอาจ […]
ถุงใต้ตาและร่องใต้ตา
ถุงใต้ตาและร่องใต้ตา (Baggy Eyelid and Tear Trough Defo […]
GJ E-Magazine เล่มที่ 30
GJ E-Magazine ฉบับที่ 30 (เดือนมกราคม 2568) “การรักษาด้ […]