การฝังเข็มเลิกบุหรี่

ความรู้ทั่วไป, ความรู้แผนจีน   ลงวันที่

จากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลการสูบบุหรี่ในประเทศไทย พบว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน พบว่า ผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.4 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2560 ซึ่งสูงถึงร้อยละ 19.1(กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค) ถึงแม้ว่าการเสพติดบุหรี่ เป็นปัญหาที่สำคัญทางสังคมและการแพทย์ ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ เนื่องจากบุหรี่มีสารพิษมากกว่า100ชนิดที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคร้ายจากการสูบบุหรี่ ทั้งนี้บุหรี่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดอักเสบ โรคมะเร็ง อายุขัยสั้นลง เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ฯลฯ นอกจากนี้ควันบุหรี่มีผลกับสมองและระบบประสาทซึ่งในควันบุหรี่มีสารนิโคตินที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท สารนี้สามารถผ่านไปสู่สมองภายในเวลา10-20วินาที หลังจากดูดบุหรี่แต่ละครั้งปริมาณนิโคตินในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสารนิโคตินมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ที่ควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเคลิ้มสุข(Euphoria) ความรู้สึกสุขสบายนี้จะเกิดขึ้นในการสูบบุหรี่ครั้งแรก ๆ เมื่อสูบบุหรี่ติดต่อไปในระยะหนึ่งจะเกิดการดื้อทำให้แม้ผู้สูบจะสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานก็ไม่เกิดความรู้สึกสุขสบายจากการสูบบุหรี่แต่ต้องสูบบุหรี่เพื่อระงับภาวะถอนยา หรือภาวะอยากยาทางจิต (Psychological Withdrawal Syndrome) ทำให้เกิดอาการต่างๆได้แก่ เครียด หงุดหงิด ฉุนเฉียว กระวนกระวาย ขาดสมาธิ มึนงงและหลงลืม (รชานนท์ ง่วนใจรัก, 2552)

สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกเสพติดบุหรี่นั้นมีหลายหนทางด้วยกัน เช่น การฝังเข็ม การติดเม็ดผักกาด การนวดกดจุดสะท้อนเท้า การดื่มชาหญ้าดอกขาวหรือก้านกานพลู การออกกำลังกายชี่กง การฝึกสมาธิบำบัด เป็นต้น ในที่นี้ขออธิบายถึงการรักษาโดยแพทย์แผนจีนว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้

ในทัศนะของแพทย์แผนจีน “บุหรี่เกี่ยวข้องกับปอด” ปอดทำหน้าที่กระจายลมปราณ กระจายพลังเปรียบเสมือนกิ่งก้านต้นไม้ ลำต้นเปรียบเสมือนร่างกาย การสูบบุหรี่เข้าไปในทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด จะทำให้ร่างกายขาดความสมดุลระหว่างลมปราณและเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายลดลงจนทำให้เกิดโรคหรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆขึ้น เมื่อปอดมีปัญหาเบื้องต้นจะมีอาการไอ มีเสมหะ จากนั้นจะพัฒนาไปสู่เสมหะที่มีลักษณะเหนียวข้น ปริมาณเยอะ หากเป็นมากอาจพบอาการหอบ เหนื่อยง่ายร่วมด้วย นั้นหมายถึงสัญญาณที่บ่งบอกว่าการทำงานของปอดเริ่มทดถอย วันนี้ขอแนะนำจุดฝังเข็มจุดพิเศษชื่อว่า จุด TianWeiXue หรือ Tim Mee Point

ตำแหน่ง: อยู่บริเวณข้อมือ ตรงกลางระหว่างเส้นที่ลากจากจุดเลี่ยเชี่ยว LIEQUE (LU7) และจุดหยางซี YANGXI (LI5)

สรรพคุณ: โรคติดบุหรี่ จุดนี้ในผู้ที่ติดบุหรี่จะเด่นชัด เละมีอาการเจ็บมากถ้ากด

การฝังเข็มใบหู(Auricular Acupunture) เป็นวิธีการฝังเข็มเฉพาะตัว ปัจจุบันถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาทางคลินิกในหลายรูปแบบ ศาสตร์นี้พบว่าจุดต่างๆบนใบหูมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในและส่วนต่างๆของร่างกาย โดยใบหูมีลักษณะคล้ายกับ“ทารกกลับหัว” จึงมีการนำจุดสะท้อนมาประยุกต์ใช้ในคลินิก ตั้งแต่การฝังด้วยเข็มขนาดเล็ก(Small Filiform Needles) การติดเม็ดผักกาดสำหรับกด(Seed Pressing)ที่แพทย์จีนนิยมใช้ในการรักษา เนื่องจากง่ายและสะดวกทั้งยังคนไข้สามารถกดได้เองที่บ้านเหมาะคนที่กลัวเจ็บ กลัวเข็ม ใช้ติดที่จุดหูด้วยเทปกาว คาไว้ 3-5 วัน กดคลึง 1-3 นาที วันละ 3-5 ครั้ง

จุดหลัก

จุดปอด: เพื่อเป็นการรกระตุ้นการทำงานของปอด แทนการการกระตุ้นนิโคติน
จุดเสินเหมิน :เพื่อสงบจิตใจ
จุดใต้สมอง: เพื่อปรับและกระตุ้นการหลั่งสาร Endorphins,ACTH เป็นต้น เพื่อลดความเครียดและวิตกกังวล เป็นต้น

การฝังเข็มของการแพทย์แผนจีน จากการศึกษา พบว่า การฝังเข็มช่วยกระตุ้นให้ผู้ติดบุหรี่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร Serotonin ในสมองส่วน Hypothalamus ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และการควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ การฝังเข็มมีผลในการปรับความสมดุลของลมปราณและเลือด ผลจะปรากฏใน 2-3 วันแรก ถ้าสูบอีกจะรู้สึกขม เผ็ด เหมือนกินใบไม้ที่่ขม จนเกิดอาการเบื่อที่จะสูบ นอกจากนี้การฝังเข็มจะต้องดูคนไข้เป็นหลักและปรับองค์รวมต่างๆ ไม่เพียงแต่เพื่อเลิกบุหรี่เท่านั้น เนื่องจากคนไข้แต่ละคนที่มีอาการเลิกบุหรี่หรือถอนนิโคตินจะมีอาการแตกต่างกัน ดังนั้น แพทย์จีนผู้ฝังเข็มจะต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดองค์รวมต่างๆต่อไป

อย่างไรก็ตาม การฝังเข็มควรใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ทั้งการรักษาของการแพทย์แผนปัจจุบัน และรวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาร่วมด้วย การเลิกบุหรี่ผู้สูบต้องตั้งใจเลิกเด็ดขาด หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผู้สูบนึกถึงการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ควรออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมทำยามว่าง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีบุคคลสูบบุหรี่ในบ้านควรแนะนำให้เลิกพร้อมกัน

 

อ้างอิง

-ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค จากhttps://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=22385&deptcode=brc&news_views=1559

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

-รชานนท์ ง่วนใจรัก. (2552).ผลของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุน

ทางสังคมในการพัฒนาพฤติกรรมเพื่อป้องกันการสูบบุหรี่ของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่2อำเภอ

เมืองจังหวัดขอนแก่น. วารสารวิจันสาธารณสุขศาสตร์มหาวิยาลัยขอนแก่น. 2(1),45-57.

-https://baike.baidu.com

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกแพทย์แผนจีน

  • โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]