- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- ลูกนอนกรน หายใจเสียงดังเวลานอน มีอันตรายหรือไม่ ?
ลูกนอนกรน หายใจเสียงดังเวลานอน มีอันตรายหรือไม่ ?
ภาวะการนอนกรนเป็นการหายใจเสียงดัง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะหลับ พบได้ในทุกเพศทุกวัย จากการศึกษาพบว่าเด็กประมาณ 3-12 เปอร์เซ็นต์นอนกรน การนอนกรนพบบ่อยเป็นพิเศษในช่วงอายุก่อนวัยเรียน (Preschool) หรือช่วงระดับชั้นอนุบาล เนื่องจากขนาดของต่อมอดีนอยด์ และทอนซิล ที่มักโตเมื่อเทียบกับขนาดของทางเดินหายใจเด็ก
การนอนกรนมีอันตรายหรือไม่ ?
การนอนกรนอาจ เป็นอันตรายได้ หากเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง เด็กเมื่อนอนแล้วหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน ก็จะนอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนบ่อย ทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ, นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก
Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS)
คือ ความผิดปกติของการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ขณะหลับ ทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจ และระบบการนอนหลับ
อัตราการเกิดพบประมาณ 2% ของประชากร พบในเด็กผู้หญิงพอ ๆ กับเด็กผู้ชาย จะเห็นได้ว่าลักษณะแบบไม่เป็นอันตรายพบได้บ่อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามแพทย์มีความจำเป็นจะต้องตรวจวินิจฉัยเด็กที่ในลักษณะแบบมีอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจ และให้การรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
เด็กที่มีโอกาสเสี่ยง (OSAS) ได้แก่
– มีต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอดีนอยด์โต
– เด็กที่อ้วนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
– มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีกรามเล็ก, มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ
– มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy
– เด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ
– เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
– เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง
อาการที่น่าสงสัย
– มีอาการหายใจติดขัด, หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจเป็นพัก ๆ นอนกระสับ กระส่าย, เหงื่อออกมากเวลานอน, ตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ
– ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยควบคุมได้มาก่อน
– อ้าปากหายใจ มีปัญหาด้านการเรียน, เรียนได้ไม่ดี
– มีปัญหาทางพฤติกรรม, สมาธิสั้น, อยู่นิ่งเฉยไม่ได้
– ระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
– ง่วงเหงาหาวนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน
– มีความดันโลหิตสูง
การวินิจฉัยทำอย่างไร
ในปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาภาวะของการเกิดโรคได้ โดยการทดสอบการนอนหลับ (Pneumogram) การทดสอบการนอนหลับที่เป็นมาตรฐานเป็นการทดสอบข้ามคืนใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เด็กจะมานอนค้างคืนที่ห้องทำการทดสอบที่จัดเตรียมไว้ ผู้ปกครองสามารถมาอยู่เฝ้าได้
การรักษา
หากพบว่าเด็กมีภาวะของโรคที่เป็นอันตรายก็จำเป็นต้องมีการรักษา การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ
การตัดต่อม Adenoid และ Tonsils ในรายที่มีต่อม Adenoid และ/หรือ Tonsils โต การตัดต่อมออกพบว่าช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ถึง 75-100% จึงถือเป็นการรักษาหลังในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ในผู้ป่วย ซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทางเดินหายใจอุดตันตอนหายใจเข้า หรือในผู้ป่วยที่ตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา หรือในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่น ไม่สามารถผ่าตัดได้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ (CPAP หรือ BiPAP)
การรักษาโดย การผ่าตัด เพื่อแก้ความผิดปกติของโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบกว่าปกติเป็น การทำ Craniofacial Surgery, Uvulopharyngopalatoplasty.
การรักษาอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับเป็นโรคภูมิแพ้, การควบคุมน้ำหนัก
ภาวะแทรกซ้อน
มีชนิดที่มีการอุดกั้นของทางเดิน หายใจร่วมด้วยในขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนในเลือดลดลง ดังที่กล่าวมาแล้ว หากมิได้รับการรักษา หรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ, ระดับการเรียนรู้ต่ำลง, มีสมาธิสั้น, Active มากไม่อยู่นิ่ง, ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน, ปัสสาวะรดที่นอน, ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดในปอดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้