ปวดหลังผ่าตัด จัดการได้ ง่ายนิดเดียว

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการดมยา   ลงวันที่

ปวดหลังผ่าตัด จัดการได้ ง่ายนิดเดียว

 

เมื่อนึกถึงการผ่าตัด สิ่งแรกที่ผู้ป่วยมักนึกถึงเป็นอย่างแรกคือ “ความเจ็บปวด” ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยบางท่านถึงกับกล่าวไว้ว่า “ตายได้ แต่ขอไม่ปวด” แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า อาการปวดภายหลังผ่าตัดนั้นสามารถจัดการได้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ความรู้ด้านการบริหารความปวดก่อนการผ่าตัด เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดการความปวดภายหลังการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยลดความทรมาน เพิ่มประสิทธิภาพการนอนพักผ่อนที่ดีขึ้น และสามารถลดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคปอดติดเชื้อ ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลได้ ข้อมูลดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผู้ป่วยเองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดระดับความปวดภายหลังการผ่าตัดได้เป็นอย่างมาก

ท่านควรแจ้งประวัติโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเรื้อรัง ยาที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาที่สามารถทำปฏิกิริยากับยาแก้ปวดได้เช่น สารสกัดจากกัญชา เป็นต้น  ประสบการณ์การเจ็บปวดการผ่าตัดก่อนหน้า เป็นข้อมูลที่สำคัญที่วิสัญญีแพทย์จะประเมิน เพื่อเลือกวิธีระงับความรู้สึกเพื่อให้ท่านมีอาการปวดที่น้อยที่สุด

 

นอกจากนั้นในระยะช่วงก่อนผ่าตัด สิ่งที่สำคัญการก่อนผ่าตัด คือความเข้าใจระดับการปวดภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดแต่ละประเภทมีระดับความปวดที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซึ่งถือว่าเป็นการผ่าตัดที่มีอาการปวดได้มาก ความเข้าใจถึงระดับความปวดของการผ่าตัดแต่ละประเภทมีส่วนสำคัญในการจัดการกับความปวดได้เป็นอย่างดี

ในช่วงภายหลังผ่าตัดข้อมูลที่สำคัญที่ท่านสามารถช่วยจัดการการปวดได้คือการอธิบายอาการปวด อันได้แก่การบอกลักษณะ ตำแหน่ง และคะแนนความปวด ลักษณะของอาการปวดมีหลายแบบอันได้แก่ ปวดตื้อๆ ปวดเหมือนไฟฟ้าช๊อต ปวดเหมือนมีดแทงเป็นต้น ลักษณะของอาการปวดและตำแหน่งของอาการปวด สามารถระบุที่มาของรอยโรคที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น การให้ระดับคะแนนความปวดเป็นเครื่องมือวัดระดับเพื่อพิจารณาแนวทางการให้ยาระงับปวด การติดตามการรักษาที่สำคัญ โดยเครื่องมือบอกระดับความปวดที่สำคัญคือ การบอกระดับการปวดเป็นตัวเลข อันได้แก่เลข 0 ถึง 10 โดย 0 คือไม่มีอาการปวดเลย 1-3 ปวดน้อย 4-6 คือปวดปานกลาง และ 7-10 ปวดมาก ทีมแพทย์และพยาบาลผู้ให้การรักษาจะพิจารณาการให้ยาแก้ปวดที่เหมาะสมตามระดับของความปวด และติดตามประสิทธิภาพของยาแก้ปวดโดยพิจารณาจากคะแนนความปวดเช่นเดียวกัน

ยาที่มีความสำคัญตัวหนึ่งในการจัดการความปวดภายหลังการผ่าตัด คือ “มอร์ฟีน” เป็นยาที่ประสิทธิภาพในการจัดการอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว ภาวะแทรกซ้อนทีควรสังเกต ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการท้องผูก ผื่น หรือมีอาการง่วงนอนมาก ผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจกดการหายใจ อย่างไรก็ดี การบริหารยาภายใต้การดูแลของแพทย์มีความปลอดภัย หากท่านมีอาการแทรกซ้อน ควรแจ้งทีมแพทย์พยาบาลที่ทำการรักษาเพื่อให้ยาลดอาการแทรกซ้อนได้อย่างรวดเร็ว

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการบริการการปวดภายหลังการผ่าตัดที่ผู้ป่วยสามารถเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการระดับความปวดภายหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน วิสัญญีแพทย์มีวิธีการลดระดับความปวดมากมายหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural Block), การให้ยาชาเฉพาะส่วนแขนหรือขา หรือการให้ยาระงับปวดด้วยตนเอง (Patient-Controlled Analgesia) วิธีระงับปวดเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด มีระดับความปวดภายหลังการผ่าตัดที่น้อยที่สุด ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวด โดยสรุป ความปวดภายหลังการผ่าตัดสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยท่านสามารถมีส่วนร่วมในจัดการอาการปวดให้น้อยที่สุดได้เช่นเดียวกัน

 

 

 

 

ทีมวิสัญญีแพทย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกศัลยกรรมทั่วไป

  • โทร 02 849 6600 ต่อ 2591,2592

บทความที่เกี่ยวข้อง

Post
Post is now empty.