ทำบุญเข้าพรรษายุคใหม่ ตักบาตรด้วยใจ สงฆ์ไทยไกลโรค

ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

ทำบุญเข้าพรรษายุคใหม่ ตักบาตรด้วยใจ สงฆ์ไทยไกลโรค

 

ใกล้ถึงช่วงเข้าพรรษาแล้ว ชาวพุทธหลายท่านคงเตรียมข้าวของ จัดสำรับอาหารไปทำบุญ ตักบาตร หรือปฏิบัติธรรมที่วัด ซึ่งวันเข้าพรรษาถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา”  เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

สำหรับกิจกรรมทางศาสนาที่นิยมปฏิบัติ คือ ไปทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา ถือศีลและการถวายผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งการทำบุญ ตักบาตรสำหรับชาวพุทธในวันสำคัญเช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะจัดเตรียมอาหารคาว อาหารหวานอย่างประณีต เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ แต่อาหารที่เรานำไปถวายนั้นควรใส่ใจในเรื่องของการเลือกอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ แทนการประกอบอาหารด้วยตัวเอง

การเตรียมอาหารใส่บาตรถวายพระสงฆ์นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก นั่นคือ คุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งงานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางการจัดอาหารใส่บาตรที่ถูกต้อง และดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์มาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้นำไปปฏิบัติกัน

 

เทคนิคการจัดอาหารตักบาตรเพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์

  • เสริมข้าวกล้อง เลือกตักบาตรด้วยข้าวกล้อง หรืออาจสลับกับอาหารประเภทแป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวโพด เผือก มัน และธัญพืชต่างๆ
  • เสริมผัก จัดเมนูผักให้มากขึ้นและหลากหลายเพื่อให้ได้วิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอย่างเพียงพอ
  • เสริมปลา จัดเมนูปลาให้ได้ฉันเป็นประจำ เช่น เมี่ยงปลาทู ปลานึ่งมะนาว ต้มยำปลา เป็นต้น หรืออาจเลือกอาหารที่ให้โปรตีนคุณภาพดี แต่มีไขมันต่ำ เช่น ไข่ อกไก่ สันในหมู และเนื้อสัตว์ต่างๆที่ไม่ติดไขมัน เป็นต้น
  • เสริมนม อาหารประเภทผัด หรือแกงที่มีส่วนประกอบของกะทิ ให้ลดกะทิลง แล้วใช้นมจืดไขมันต่ำ หรือนมไร้ไขมันแทนกะทิผสมลงไปเพราะนมมีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน หรือเลือกนมเป็นน้ำปานะแทนน้ำหวาน หรือน้ำอัดลม หากไม่อยากถวายนมวัว สามารถใช้นมถั่วเหลืองแทนได้แต่ควรเลือกสูตรหวานน้อยและมีแคลเซียมสูง
  • ลดหวาน เลือกผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีน้ำตาลน้อยโดยสามารถอ่านจากฉลากโภชนาการ ควรเลือกผลไม้แทนขนมยอดนิยม เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ปลากริม ลอดช่อง ฯลฯ หากจำเป็นควรเลือกขนมที่หวานน้อย รวมถึงอาหารคาวที่ปรุงประกอบเองนั้นก็ไม่ควรปรุงรสหวานมากนัก
  • ลดไขมัน ลดการทอดและแกงกะทิลง ควรเลือกเมนูที่ใช้ไขมันน้อย เช่น ต้ม ตุ๋น ปิ้ง ย่าง นึ่ง จี่
  • ลดเค็ม ควรจำกัดปริมาณเกลือโซเดียมที่มาจากเครื่องปรุงต่างๆ ได้แก่ เกลือแกง ผงชูรส ผงปรุงรส น้ำปลา ซีอิ้ว รวมถึงโซเดียมจากอาหารหมักดอง อาหารแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

เพียงเท่านี้พระสงฆ์ก็จะมีตัวเลือกในการฉันภัตราหารต่างๆที่ถูกหลักโภชนาการ และเราก็ใส่บาตรได้อย่างสบายใจ  แนวโน้มสุขภาวะของพระสงฆ์ไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สามารถปฏิบัติศาสนกิจ เผยแผ่พระธรรมคำสอน และเป็นเนื้อนาบุญแห่งพุทธศาสนาสืบต่อไป

 

จัดทำโดย: งานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร 02-8496600 ต่อ 1084/1085

ขอบคุณข้อมูลจาก:

ปัญจวรา บุญสร้างสม, “ใส่ใจลงในบาตร” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กระทรวงสาธารณสุข.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]