โภชนาการสำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอด

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยวัณโรคปอด

นายธนวัฒน์ ชาชิโย (นักวิชาการโภชนาการ)

 

วัณโรค เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยโดย พ.ศ.2558 องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทย เป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก และคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 120,000 รายต่อปี วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและสามารถวัณแพร่เชื้อโดยการไอ จาม ฝอยละอองเสมหะที่ออกมาจากปอดของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคและผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคก็คือผู้ที่หายใจรับเชื้อวัณโรคที่ล่องลองในอากาศเข้าสู่ปอด   อาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดที่มีมักพบ คือ เบื่ออาหาร ไอ มีเสมหะ เหนื่อย หอบ ต่อมรับรสผิดปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวคือผลจากโรคและผลข้างเคียงจากยา  ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดมีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ในภายหลัง และเมื่อร่างกายขาดสารอาหารจึงส่งต่ออาการของโรคและการแพ้ยารุนแรง

ภาวะทุพโภชนาการกับวัณโรค โดยปกติแล้วผู้ป่วยวัณโรค จะได้รับการรักษาและยา ตามที่แนวทางการรักษาของแพทย์ แต่อาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ป่วยวัณโรค หรือผู้ดูแลต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้น้อยลง จากอาการที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ส่งผลให้น้ำหนักจะลดลงเร็วมากถึง 3 –5 กิโลกรัมใน 2 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลต่อค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ทำให้มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ และมวลกล้ามเนื้อลดลง จากการได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ซึ่งผลต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง แผลหายช้า ผิวหนังบาง ติดเชื้อง่าย อ่อนแรง เคลื่อนไหวด้วยตัวเองลำบาก เป็นแผลกดทับ แผลเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในที่สุด

แนวทางการดูแลโภชนาการของผู้ป่วยวัณโรค

1.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

  • กลุ่มเนื้อสัตว์ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว จะช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีน เสริมสร้างภูมิต้านทาน และยับยั้งการสลายของมวลกล้ามเนื้อ
  • กลุ่มข้าว แป้ง ขนมปัง เผือก มัน ข้าวโพด น้ำตาลควรเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ขัดสี เช่นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะมีวิตามินบีสูงช่วยลดอาการชาปลายมือปลายเท้าและเพิ่มความอยากอาหาร
  • กลุ่มพืชผักและผลไม้ต่างๆ ควรเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่างๆ ตลอดจนเสริมสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • หมู่ที่ 5 น้ำมัน ไขมันจากพืชและสัตว์ ซึ่งให้พลังงานสูง สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย ควรเลือกบริโภคน้ำมันที่มีกรดไขมันดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด

2.ถ้าหากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยควร เพิ่มมื้ออาหารให้มากขึ้นโดยอาจแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ 5 – 6 มื้อ ซึ่งในแต่ละมื้อควรจะมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ และอาจเพิ่มกรดไขมันดี เช่น โอเมก้าสาม ในอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอเหมาะสมต่อวัน

***ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวันเท่ากับ 1- 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น***

3.ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการไอ และมีเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ของทอด ของมัน กะทิ และน้ำเย็น น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง อาทิ  น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว 

และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊สสูง เช่น ของดอง ถั่ว น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีกลิ่นแรง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 

4.ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ และการสูบบุหรี่

นอกจากนั้นผู้ป่วยวัณโรคหรือผู้ดูแล อาจต้องหมั่นชั่งน้ำหนักตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อ ติดตามภาวะการลดลงของน้ำหนักตัว เพื่อนำไปประเมินความเสี่ยงของภาวะทุพโภชนาการที่อาจเกิด โดยอาจแจ้งกับแพทย์ผู้รักษาร่วมกับสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมกันประเมิน วางแผน และดูแลเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ทั้งในด้านโภชนาการ การดูแลตัวเองของผู้ป่วย และการออกกำลังกาย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]