- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- โภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
โภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
โภชนาการสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
การให้นมลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ หน้าที่ของแม่นอกจากจะอุ้มท้องลูกถึง 9 เดือนแล้ว เมื่อลูกออกมาลืมตาดูโลก แม่ก็ยังคงดำเนินหน้าที่อยู่อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ “การให้นม” น้ำนมบริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยสายใยรักและสารอาหารที่คุณค่าสำหรับลูก ซึ่งรู้หรือไม่ว่า การที่คุณแม่จะผลิตน้ำนมที่ทรงคุณค่านี้ได้ ร่างกายของแม่ต้องพร้อมทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ดังนั้นภาวะโภชนาการของแม่เป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่หลายคนที่มีความกังวลกับการให้นมลูก และการกินอาหารของตัวเอง เพราะแน่นอนว่าอาหารที่กินเข้าไปมีผลต่อน้ำนมที่ลูกกิน เนื่องจากถ้าแม่มีโภชนาการที่ดี ลูกน้อยก็จะแข็งแรง สมบูรณ์ ดื่มนมจากอกของแม่ อาหารที่ดีของลูก เริ่มต้นที่น้ำนมของแม่ ดังนั้นเนื่องด้วยเดือนสิงหาคมของทุกปี เปรียบเสมือนเป็นเดือนของแม่ ทางงานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวทางกินอย่างไรให้น้ำนมแม่มีคุณภาพและมีปริมารที่เพียงพอกับความต้องการของลูกมาฝากคุณผู้อ่านกันดังนี้
ช่วงหลังคลอดคุณแม่ต้องการสารอาหารมากกว่าตอนตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้สำหรับผลิตน้ำนม จึงควรกินอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง วันละ 10-12 ทัพพี กลุ่มผัก วันละ 6 ทัพพี กลุ่มผลไม้ วันละ 6 ส่วน กลุ่มเนื้อสัตว์ 12-14 ช้อนกินข้าว และกลุ่มนม วันละ 2-3 แก้ว แต่ละกลุ่มให้กินในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย แต่สำหรับไขมัน เกลือ และเครื่องปรุงต่างๆ ควรใช้น้อยๆเท่าที่จำเป็น และไม่กินอาหารรสหวาน
กลุ่มอาหาร | หน่วย | ปริมาณ |
ข้าวแป้ง | ทัพพี | 10 – 12 |
เนื้อสัตว์ | ช้อนกินข้าว | 12 – 14 |
ผัก |
ทัพพี | 6 |
ผลไม้ | ส่วน | 6 |
นม | แก้ว | 2 – 3 |
ไขมัน น้ำตาล เกลือ | น้อย ๆ เท่าที่จำเป็น |
หญิงให้นมบุตรต้องกินยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็กและโฟลิกทุกวัน เพื่อให้น้ำนมแม่มีคุณภาพและสารหารที่ครบถ้วนสำหรับลูกน้อย และสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ไม่ควรกินอาหารอื่นรวมทั้งน้ำนอกเหนือจากนมแม่ ซึ่งแม่ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือหิวน้ำ เนื่องจากในนมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วน และน้ำอยู่แล้ว และยังช่วยป้องกันทารกจากเจ็บป่วยได้อีกด้วย
ดังนั้นหากคุณแม่เตรียมร่างกายให้พร้อม เลือกกินอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอ และมีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของน้ำนมแม่ ทำให้ลูกเจริญเติบโตแข็งแรง สมส่วนกับวัยของลูกนั่นเอง
จัดทำโดย: งานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร 02-8496600 ต่อ 1084/1085
ขอบคุณข้อมูลจาก: กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข. กลุ่มส่งเสริมโภชนาการสตรีและเด็กปฐมวัย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกกุมารเวชกรรม
- โทร 02 849 6600 ต่อ 1121