ไข้หวัดใหญ่

ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

โรคไข้หวัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นทุก ๆ ปี หากติดเชื้อเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วย หยุดงาน หรือการหยุดเรียนตามมา หากเป็นไข้หวัดธรรมดาก็หายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ถ้าหากเป็นไข้หวัดใหญ่ก็จะเกิดอาการมากกว่าไข้หวัดธรรมดา และใช้ระยะเวลานานกว่าจะหาย และหากไข้หวัดใหญ่เกิดในผู้ที่ไม่แข็งแรงก็จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตสูง สำหรับไข้หวัดเป็นการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกไหล ไข้ไม่สูงมาก

ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัด ต่างกันอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อ Influenza virus เป็นการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ เช่น จมูก คอ หลอดลม และปอด เชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดตามตัวปวดกล้ามเนื้อมาก จะพบมากทุกอายุโดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการเสียชีวิตมักจะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน ลดการหยุดงานหรือหยุดเรียน

วิธีป้องกัน หวัด-ไข้หวัดใหญ่

(1). ล้างมือ ด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์    ไวรัสกลุ่มหวัด-ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายได้ 2 ทางใหญ่ๆ คือ ทางอากาศและทางบก   มือที่ปนเปื้อนเสมหะ-น้ำมูก-น้ำลายจากการไอ-จาม-ใช้มือแตะจมูก-ปาก ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทางบก โดยผ่านการจับโน่นจับนี่ เช่น ลูกบิดประตู (ห้องน้ำแบบซิกแซ็ก-มีแผงบังตาป้องกันโรคได้ดีกว่าห้องน้ำแบบใช้ประตู)

(2). หลีกเลี่ยง คนป่วยและสถานที่แออัด    การไอ-จามทำให้ละอองฝอยที่มี เชื้อแพร่กระจายไปทางอากาศ ซึ่งป้องกันได้ด้วยการอยู่ให้ห่างคนที่ไอ-จาม (2 เมตรขึ้นไป หรือไกลกว่านั้นในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ห้องแอร์ ไนท์คลับ ผับ บาร์ ฯลฯ)

(3). ทำความ สะอาด    ไวรัสหวัด-ไข้หวัดใหญ่มีชีวิตอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น สวิทช์ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ฯลฯ ได้หลายชั่้วโมง, การทำความสะอาด เช่น เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ฯลฯ ช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้

(4). กินอาหาร สุขภาพ     การกินอาหารสุขภาพให้ครบทุกหมู่ พอประมาณ มีผักผลไม้หลายสี และกินโยเกิร์ต ช่วยลดโอกาสติดหวัดได้ประมาณ 25%

(5). นอนให้พอ   การนอนให้พอและไม่ดึกเกินช่วยให้ภูิมิต้านทานโรคดี

(6). ลดความ เครียด    การลดความเครียด เช่น ออกแรง-ออกกำลัง ฯลฯ หรือฝึกคลายเครียด เช่น เกร็งกล้ามเนื้อทีละส่วนแล้วผ่อนคลาย ฯลฯ ช่วยให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น

(7). ไม่สูบ บุหรี่    คนที่่สูบบุหรี่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยกว่า เป็นหวัด-ไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่า และอาการหนักกว่าคนที่ไม่สูบุบหรี่, คนที่ไม่สูบจำเป็นต้องระวังควันบุหรี่มือสอง หรือควันจากคนอื่นสูบ    กลไกที่เป็นไปได้ คือ ควันบุหรี่มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง เซลล์ขนบนเยื่อบุจมูกเป็นอัมพาต พัดโบก (กวาด) ขยะจากจมูกด้านในไปด้านนอกได้น้อยลง

(8). ออกกำลัง    การไม่ออกกำลัง ออกกำลังน้อยเกินหรือมากเกิน ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง… ทางที่ดี คือ ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ไม่หักโหมจนเกินไป

(9). ระวังความ แห้ง      ข้อนี้มีผลมากสำหรับคนในเขตอบอุ่นหรือหนาวที่ใช้เครื่องทำความร้อน ทำให้เยื่อบุจมูกด้านในแห้ง ภูมิต้านทานโรคต่ำลง    คนในเขตร้อนที่ใช้แอร์เป่าตรงเข้าสู่หัว หรือตั้งแอร์เย็นมากๆ ก็ทำให้เยื่อบุจมูกด้านในแห้งได้คล้ายๆ กัน, ทางที่ดี คือ ไม่เป่าแอร์ตรงตำแหน่งหัวคน และไม่ตั้งแอร์เย็นเกินไป

ใครควรได้รับวัคซีน

วัคซีนนี้สามารถฉีดป้องกันได้เกือบทุกคนนะคะ แต่ปกติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นย้ำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือ

  1. บุคคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
  2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด
  3. หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  6. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  7. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
  8. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อ
  9. คนที่น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กก.ต่อตารางเมตร

แล้วควรฉีดวัคซีนเมื่อไร ?    

สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เพราะเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดแล้วค่ะ

อาการข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอะไรบ้าง ?  

การฉีดวัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ทั้งมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ ปวดเมื่อย แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วันหลังฉีดยา สามารถใช้ผ้าเย็น ๆ ประคบบริเวณที่บวมได้ หรือทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสมได้

แล้วมีใครที่ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง ?   

ถึงแม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ก็มีบางคนที่ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ คือ     – เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
 – คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากไข่ไก่
  – ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
  – ผู้ที่มีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน 
  – ผู้ป่วยที่มีโรคประจำกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]