สมุนไพรต้านอากาศหนาว

สมุนไพรต้านอากาศหนาว

พจ.รณกร โลหะฐานัส

ตามตำราแพทย์จีน ความเย็น เป็นลมฟ้าอากาศหลักในฤดูหนาว ในฤดูหนาวมีโอกาสป่วยจากความเย็นได้ง่าย ถ้ารักษาความอบอุ่นของร่างกายไม่เพียงพอ เช่น อยู่ในที่มีอากาศหนาวเย็นเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าบางเกินไป โดนฝน แช่อยู่ในน้ำเย็นนานเกินไป จะมีโอกาสเจ็บป่วยจากความเย็นได้ง่าย

คุณสมบัติของความเย็นและการเกิดโรค

  1. ความเย็นชอบทำลายหยาง ความเย็นเป็นอิน ปกติลมปราณอินจะถูกควบคุมด้วยลมปราณหยาง อินเพิ่มทำให้หยางป่วย เกิดจากลมปราณอินเพิ่มขึ้นและย้อนไปข่มหยาง ลมปราณหยางไม่สามารถสร้างความอบอุ่นเป็นพลังผลักดันการทำงานของร่างกายจึงเกิดกลุ่มอาการเย็น เช่น
    1. ถ้าความเย็นมากระทบที่ส่วนนอกของร่างกายผลักดันหยางให้เข้าไปอยู่ในร่างกาย จะทำให้มีอาการกลัวหนาว เหงื่อไม่ออก ปวดศีรษะ ปวดตัว ปวดข้อ
    2. ถ้าความเย็นกระทบกระเพาะอาหาร จะทำให้ปวดเย็นในท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
    3. ถ้าความเย็นกระทบปอด จะทำให้ไอ หอบ มีเสมหะใส
    4. ถ้าความเย็นกระทบไต จะทำให้ปวดเย็นที่เอว ปัสสาวะมาก บวมน้ำ
  2. ความเย็นทำให้หยุดนิ่ง ติดขัด เมื่อความเย็นเข้าทำลายหยาง ทำให้เลือดลมไม่ไหลเวียน เกิดการติดขัดและปวดขึ้น ถ้าให้ความอบอุ่นจะทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น อาการปวดทุเลาลง
  3. ความเย็นทำให้หดเกร็ง เมื่อความเย็นมากระทบส่วนนอกของร่างกาย ทำให้ผิวหนังหดตัว รูขุมขนปิด เส้นลมปราณตีบตัน หยางที่ปกป้องร่างกายไม่ไหลเวียนมาที่ส่วนนอก ทำให้เป็นไข้ กลัวหนาว เหงื่อไม่ออก ถ้าความเย็นก่อตัวภายในร่างกาย จะกระทบหัวใจ ม้าม และไต เกิดเป็นอาการ หน้าซีดขาว แขนขาเย็น ปัสสาวะมาก ถ่ายเหลวเป็นน้ำ

 

ดังที่ได้กล่าวมาความเย็นในฤดูหนาวสามารถก่อโรคได้มากมาย จึงควรเตรียมร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ทั้งภายนอกภายใน ภายนอกนั้นเริ่มมาจากการสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวและมีความหนามากขึ้น หรืออาบน้ำอุ่น เพื่อป้องกันความหนาวเย็นจากภายนอกมากระทบ ส่วนภายในอาจเริ่มจากการงดดื่มน้ำเย็น อาหารที่มีฤทธิ์เย็น รวมไปถึงทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อเสริมลมปราณหยางในร่างกาย บทความนี้จึงจะมาแนะนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ช่วยเสริมลมปราณหยางในร่างกาย

ตังเซียม (党参)

ตังเซียม มีรสหวาน ฤทธิ์กลาง สรรพคุณ บำรุงชี่ของม้ามและปอด บำรุงเลือด เพิ่มสารน้ำ โดยแพทย์จีนเชื่อว่า ชี่ คือ ลมปราณที่ขับเคลื่อน/ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหยางในร่างกาย ใช้ขนาด 9-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

โต่วต๋ง (杜仲)

โต่วต๋ง มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่น สรรพคุณ บำรุงหยางของตับและไต เสริมสร้างกระดูกและเอ็นให้แข็งแรง ขับลมชื้น ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

อบเชยจีน (肉桂)

อบเชยจีน มีรสเผ็ดหวาน ฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ เสริมหยาง บำรุงธาตุไฟในระบบไต กระจายความเย็น ระงับปวด ทะลวงเส้นลมปราณ ใช้ขนาด 1-5 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

ขิงแห้ง (干姜)

ขิงแห้ง มีรสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ เสริมความอบอุ่น ขับความเย็น ฟื้นฟูหยางของม้ามและกระเพาะอาหาร ระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

ดีปลี (荜茇)

ดีปลี มีรสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ ขับความเย็นออกจากม้ามและกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก แก้อาเจียนและท้องเสียอันเนื่องจากความเย็น ระงับปวดไมเกรน ใช้ภายนอกแก้ปวดฟัน ใช้ขนาด 1.5-3 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

 

จากสมุนไพรที่แนะนำเบื้องต้น บางชนิดสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น อบเชยจีนที่เรามักคุ้นเคยอยู่ในเครื่องพะโล้ หรือขิงที่สามารถนำมาผัดกับเห็ดหูหนู ซึ่งสามารถนำอาหารมาทานปรับสมดุลร่างกายได้

สุดท้ายนี้ เนื่องในวาระอันเป็นศุภมิ่งมงคลขึ้นปีใหม่ ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ท่าน และครอบครัว ประสบแต่ความสุขเกษมสำราญ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

 

อ้างอิง

  1. ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  2. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกแพทย์แผนจีน

  • โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018

บทความที่เกี่ยวข้อง