การรักษาไมเกรนด้วยยาสมุนไพร

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

ไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
คือ อาการปวดศีรษะโดยมักปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ หรือบางครั้งอาจปวดศีรษะทั้งสองข้างพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก
ผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย และพบในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง

ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรน

  1. มักจะปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจร
  2. อาการปวดมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
  3. ขณะที่ปวดศีรษะ มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย
  4. ระยะเวลาปวดอาจนานหลายชั่วโมง และมักไม่เกินหนึ่งวัน
  5. ในบางรายจะมีอาการเตือนนำมาก่อนหลายนาที เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกระพริบ
  6. อาการปวดมักกำเริบไม่เป็นเวลา อาจปวดขึ้นมา กลางดึก หรือปวดตอนเช้าหลังตื่นนอน

สาเหตุการเกิดโรค

สาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเป็นผลจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง
ที่มีผลกระทบต่อการสื่อกระแสประสาท ระดับสารเคมีในสมอง และความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง
ทำให้ผู้ป่วยรับความรู้สึกและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย และจากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ปัจจัยกระตุ้นอาการ

ปัจจัยกระตุ้นอาการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง(ร้อนหรือเย็นเกินไป) การอยู่ท่ามกลางแสงแดด
เป็นเวลานาน กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ความเครียดจากการทำงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย
ซึ่งมักพบในเพศหญิงช่วงที่มีประจำเดือน และการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดจะกระตุ้นอาการปวดไมเกรนให้รุนแรงมากขึ้น

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรน ได้แก่

  1. การบรรเทาอาการปวดศีรษะที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น การประคบเย็น การประคบร้อน การนวดกดจุด
    และการนอนหลับพักผ่อน เมื่อร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอาการปวดศีรษะก็จะค่อยๆลดลง
  2. การป้องกันไม่ให้เกิด หรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ เช่น การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
    และการรับประทานยาป้องกันไมเกรน เมื่อมีความถี่ของอาการปวดศีรษะสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งขึ้นไป และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

แนวคิดทางการแพทย์แผนไทยจะเทียบเคียงโรคไมเกรนกับโรคลมปะกัง

ซึ่งโรคลมปะกัง(ลมตะกังหรือสันนิบาตลมปะกัง) หมายถึง โรคลมชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมาก อาจปวดข้างเดียวหรือปวดสองข้างก็ได้ บางตำราว่ามักเป็นเวลาเช้า ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่นร่วม เช่น ตาพร่า วิงเวียน อาเจียน ซึ่งมีความสอดคล้องกับลักษณะอาการของโรคไมเกรนทางแผนปัจจุบัน

การรักษาโรคลมปะกังตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

เริ่มจากแพทย์แผนไทยจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายทางการแพทย์แผนไทย จับชีพจรบริเวณข้อมือ เพื่อให้ทราบว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุชนิดใด
ในร่างกาย และซักประวัติว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรค เช่น การทำงานหนัก ภาวะความเครียดสะสม เพื่อหาแนวทางในการรักษาโดยการปรับพฤติกรรมที่ก่อโรค และปรับสมดุลให้ธาตุในร่างกายผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาวะปกติ

กลไกการเกิดโรคลมปะกังทางการแพทย์แผนไทย

เกิดขึ้นจากธาตุไฟและธาตุลมที่ผิดปกติ กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ อาการจากความผิดปกติของธาตุไฟ ทำให้ดวงตาร้อน สู้แสงไม่ได้ ชีพจรเต้นแรง ตัวร้อนผิดปกติ และอาการจากความผิดปกติของธาตุลม ทำให้คลื่นไส้ พะอืดพะอม ใจสั่น เสียดชายโครงปวดหัวตุบๆ มึนหัว หรือมีอาหารหูอื้อ จากการติดขัดของลมอุทธังคมาวาตา(ลมขึ้นเบื้องสูงที่พัดจากปลายเท้าขึ้นไปศีรษะ) ส่งผลให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก

หลักการรักษาทางการแพทย์แผนไทยจึงใช้ตำรับยาหอม

เพื่อช่วยในการกระจายเลือดลม ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งตำรับยาหอม
มีทั้งรสสุขุมร้อน และรสสุขุมหอม จึงมีสรรพคุณเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ตำรับยาหอมรสสุขุมร้อน ได้แก่ ยาหอมนวโกฐและยาหอมอินทจักร์ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
    ของสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับ พบว่ามีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร
    และระบบประสาทส่วนกลาง ดังนี้

    • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์
      เพิ่มความดันช่วงหัวใจบีบ (systolic) ได้มากและนานกว่า ตำรับยาหอมอินทจักร์ สารสกัดทั้งสองตำรับมีผลต่อความดันช่วงหัวใจคลาย (diastolic) ได้ใกล้เคียงกัน และมีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจเล็กน้อยในช่วงเวลา 45-90 นาที สารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองมีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองหนู โดยเป็นผล
      มาจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กของสมอง มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น จึงช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและภาวะเป็นลมหมดสติ
    • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด และมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ ดังนั้นยาหอมนวโกฐจึงช่วยลดอาการปวดเกร็งของลำไส้ได้ จึงช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอมได้ดี
    • ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ เนื่องจากสารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลอง ในการทดสอบโดยวิธี Locomoter activity test ส่วนสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว และสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ทำให้ระยะเวลา
      การออกฤทธิ์ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น
  2. ตำรับยาหอมรสสุขุมหอม ได้แก่ ยาหอมเทพจิตรและยาหอมทิพโอสถ ซึ่งมีแนวทางการใช้
    ทางการแพทย์แผนไทยที่ต่างกัน โดยยาหอมเทพจิตรมีตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงจิตใจ
    ให้ชุ่มชื่น จึงเหมาะสำหรับการใช้ลดความเครียด ลดความวิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น สอดคล้องกับรายงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ
    ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจให้สดชื่นหลังการนวดอโรมา และในตำรับยังมีผิวส้ม
    เป็นส่วนประกอบ จึงมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ ซึ่งการใช้น้ำมันผิวส้มนวดอโรมา ก็ช่วยทำให้คลายกังวลและสงบระงับได้เช่นกัน  
              ส่วนยาหอมทิพโอสถจะมีสรรพคุณเด่นด้านการบำรุงกำลัง บำรุงเลือด    เหมาะสำรับสตรีที่มีอาการหงุดหงิดโกรธง่ายและปวดศีรษะไมเกรนในช่วงก่อนมีรอบเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของ ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนมีรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีเกสรดอกไม้เป็นส่วนผสมจะช่วยลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวและทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็นจึงไม่กระทบต่อการมีรอบเดือน

ปัจจุบันนี้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานที่เร่งรีบและมีความแข่งขันสูง ทำให้แนวโน้มการเกิดโรคยอดฮิตอย่างไมเกรนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อพิจารณาโรคไมเกรนในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ก็จะเห็นแนวคิดที่สอดคล้องกันบางประการ เช่น กลไกการเกิดโรคที่ถูกกระตุ้นจากความเครียด ลักษณะอาการปวด และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด

ดังนั้นการประยุกต์ใช้แนวทางการรักษาร่วมกันจึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เนื่องจากความเจ็บป่วย
ไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว หากเรารักษาแค่ตามอาการโดยไม่หาสาเหตุปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องย่อมทำให้โรค
ไม่หายขาด การรักษาแบบผสมผสาน (Integrative Medicine) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. 1. รังสรรค์ ชัยเสวิกุล. ไมเกรน. บทความสุขภาพจากเว็บไซต์ SIRIRAJ ONLINE.

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26, 2563,

จาก https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=105

  1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.

คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26, 2563,

จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/103/จะเลือกใช้ยาหอมอย่างไรจึงจะดี/

  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ยาหอม มรดกทางภูมิปัญญา ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์.

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล.  สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26,2563,

จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/283/ยาหอม/

  1. การแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกเขตสุขภาพที่3.(2561).
    คู่มือแนวทางเวชปฏิบัติ (44). สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26,2563,
    จาก http://www.ppho.go.th/webppho/dl_strat/F20181018140227.pdf
  2. มูลนิธิฟื้”นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม.(2552). ตำราการแพทย์ไทยเดิมแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์เล่มที่ 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์
  3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.(2556).พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน(พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพฯ:สำนักกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
    ในพระบรมราชูปถัมภ์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง