สมุนไพร(สตรี)วัยทอง

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

สตรีวัยทอง มักพบในช่วงอายุ 45-55 ปี(1) มักเป็นช่วงใกล้หมดประจำเดือน, ช่วงที่ไม่มีประจำเดือนต่อเนื่องกัน 1 ปี หรือพบได้ในสตรีที่มีการผ่าตัดรังไข่ออกไปทั้งสองข้าง ทำให้สตรีวัยทองเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ฉะนั้นหากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง

ในทางแพทย์แผนไทยเมื่อเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัย คือวัยช่วงอายุ 32 ปีเป็นต้นไป (ตามคัมภีร์เวชศาสตร์) จะเป็นช่วงวัยที่มีธาตุลมในร่างกายเด่น ควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เพราะอาจทำให้ธาตุลมในร่างกายถูกกระทบได้ง่าย และเกิดอาการเจ็บป่วยตามมา ในทางแผนไทยจึงมีคำเรียกว่า “เลือดจะไป ลมจะมา” แปลความหมายได้ว่า

“เลือดจะไป” คือ ต่อมโลหิตระดูจะไม่ทำงานได้เหมือนเดิม หมายถึงการหมดประจำเดือน

“ลมจะมา” ช่วงวัยเปลี่ยน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีธาตุลมเป็นหลัก ซึ่งลมในร่างกายจะถูกกระทบได้ง่าย หากธาตุเสียสมดุล จะมีอาการแตกต่างกันไป ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ(ขี้หนาวขี้ร้อน) ท้องอืด ท้องผูก ผิวแห้งและคัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ มีการเปลี่ยนสภาพทางจิตใจ เช่น โมโหง่าย ซึมเศร้า ขี้ลืม ใจน้อย เป็นต้น

อาหาร และสมุนไพรที่เหมาะกับสตรีวัยทอง ได้แก่

 

1. น้ำมันมะพร้าว

ผิวหนังอาจแห้ง และคัน เมื่อฮอร์โมนเพศลดลง(2) สามารถบำรุงผิวด้วยสมุนไพร เช่น ทาน้ำมันมะพร้าวหลังการอาบน้ำ หรือใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่ลดอาการคันที่ผิวหนัง เช่น สบู่ขมิ้นชัน สบู่เหงือกปลาหมอ

2. พืชที่มีไฟโตรเอสโตรเจน

เนื่องจากฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ โดยเฉพาะกลางคืน ดังนั้นควรรับประทานพืชที่มีไฟโตรเอสโตรเจน ซึ่งคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน และสารไอโซฟลาโวน(isoflavone) จะช่วยทำให้อาการร้อบวูบวาบลดลง(3) เช่น เต้าหู้เหลือง เต้าเจี้ยว งา แครอท น้ำมะพร้าว

3. เครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงร่างกาย

เครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงร่างกาย เช่น น้ำใบเตย น้ำมะตูม น้ำฝาง ชาเกสรบัวหลวง

หรือเครื่องดื่มรสเผ็ดร้อนเพื่อทำให้ธาตุลมในร่างกายเดินได้สะดวก เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้

4. สมุนไพรที่มีแคลเซียมสูง

เมื่อเข้าสู่วัยทอง โดยเฉพาะช่วงหมดประจำเดือนไปหลายปี จำมีโอกาสเสี่ยงเรื่องกระดูกบาง ดั้งนั้นควรรับประทานสมุนไพรที่มีแคลเซียมสูง เช่น ยอดแค ยอดใบขี้เหล็ก ยอดสะเดา ผักคะน้า ผักแพว ตำลึง

ยาสมุนไพร

ยาสมุนไพร ที่ช่วยปรับเลือดลม เช่น

ยาหอม

(แหล่งภาพจากบริษัทเจริญสุข ฟาร์มาซัพพลาย จำกัด)

มีสรรพคุณหลัก ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ววิงเวียน ช่วยให้เลือดลมไหวเวียนดีขึ้น ได้แก่

  1. ยาหอมเทพจิตร แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ หมายถึง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น(4)
  2. ยาหอมนวโกฐ แก้ลมวิงเวียน แก้คลื่นไส้ อาเจียน(ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ(4)(5)
  3. ยาหอมอินทจักร์ แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด(4)(5)

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้เกสรดอกไม้
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาหอมต่อเนื่องกันนานเกิน 5 วัน

 

ยาบำรุงเลือด

(แหล่งภาพจากบริษัทเจริญสุข ฟาร์มาซัพพลาย จำกัด)

มีสรรพคุณ บำรุงเลือด ฟอกเลือด เช่น ยาเลือดงาม, ยาบำรุงเลือด

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้เกสรดอกไม้ หรือผู้มีไข้
  • ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์

***หมายเหตุ การใช้ยาเป็นเพียงการบรรเทาอาการเบื้องต้น หากสนใจควรปรึกษาแพทย์แผนไทยทุกครั้ง

 

อ้างอิง

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา. (2559) สตรีวัยทอง วัยแห่งคุณค่า [เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ]. ค้นหาเมื่อ 24 มีนาคม 2563, จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/490_49_1.pdf
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์. ศูนย์นรีเวชวิทยา. (ไม่ปรากฏปี). วัยทองกำลังมา เช็คให้ดีคุณเข้าข่ายหรือยัง? (Menopause). [บทความเผยแพร่ทางวิชาการ]. ค้นหาเมื่อ 25 มีนาคม 2563, จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/490_49_1.pdf
  3. 3. Franco OH, Chowdhury R, Troup J, Voortman T, Kunutsor S, Kavousi M, Oliver-Williams C, Muka T (June 2016). “Use of Plant-Based Therapies and Menopausal Symptoms: A Systematic Review and Meta-analysis”. JAMA. 315 (23): 2554–63. doi:1001/jama.2016.8012.
  4. 4. รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะเภสัชศาสตร์. ยาหอม..มรดกทางภูมิปัญญา ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์. [บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน]. ค้นหาเมื่อ 25 มีนาคม 2563, จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/283/ยาหอม/
  5. 5. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะเภสัชศาสตร์. จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี. [บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน].

ค้นหาเมื่อ 25 มีนาคม 2563, จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/103/จะเลือกใช้ยาหอมอย่างไรจึงจะดี/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง