- หน้าแรก
- บทความ
- ความรู้แผนไทย
- ยาสมุนไพร ปลอดภัย เมื่อใช้ถูกหลัก
ยาสมุนไพร ปลอดภัย เมื่อใช้ถูกหลัก
“สมุนไพร” ทางเลือกในการรักษาและป้องกันโรคทั้งในรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เป็นกระแสนิยมของคนทั่วไปในปัจจุบันและเมื่อกล่าวถึง “สมุนไพร” ก็อาจจะคิดว่าเป็นเพียงพืชหรือต้นไม้ที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น ทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเลือกใช้ ทำให้พบปัญหาจากการนำสมุนไพรมาใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธี จนทำให้เกิดโทษต่อตัวของผู้ใช้ โดยพบรายงานทางคลินิกเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่นำไปใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค ซึ่งในความจริงแล้วตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ให้ความหมายของ “สมุนไพร” หมายความว่า ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ ที่ใช้ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” หมายความว่า (1) ยาจากสมุนไพร และให้หมายความรวมถึงยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร ยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือยาตามองค์ความรู้การแพทย์ทางเลือกตามที่ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด เพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือการป้องกันโรค (2) ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญที่เป็นหรือแปรสภาพ จากสมุนไพร ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค และนอกจากนี้หากประสงค์ที่จะการเลือกใช้ยาสมุนไพรเพื่อมุ่งประโยชน์ทางด้านการรักษาต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถตั้งตำรับยาหรือวิธีการบริหารยาที่ถูกต้องเหมาะสมที่เฉพาะกับบุคคลและอาการของโรคอีกด้วย
การได้รับข้อมูลที่ไปไม่ครบถ้วนหรือการแชร์ข้อมูลปากต่อปาก จนอาจทำให้ละเลยเรื่องความปลอดภัยของการเลือกใช้ ขนาด และวิธีการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสมดังที่ยังพบเห็นได้บ่อยของรายงานหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อาการข้างเคียงของการใช้สมุนไพร ตัวอย่างเช่น กรณีของกระแสการใช้ “หนานเฉาเหว่ย (Vernonia amygdalina) หรือ ป่าช้าเหงา”ในการรักษาโรคเบาหวานหรือลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่กลับพบว่าการนำไปใช้แบบผิดวิธีส่งผลทำให้ค่าการทำงานของตับและไตสูงเพิ่มขึ้น จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือกระแสข่าวโซเชียลของการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ด้วยการรับประทานฟ้าทะลายโจร โดยข้อเท็จจริงนั้น ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการศึกษาว่ามีฤทธิ์ในการรักษาไข้หวัดธรรมดา (common cold) อาการไอ เจ็บคอในโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจและมีแค่เพียงการศึกษาฤทธิ์ในการต้านไวรัสกลุ่มไข้หวัดเฉพาะในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น และไม่แนะนำให้นำมารับประทานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหรือรับประทานติดต่อกันเกิน7 วัน สำหรับอันตรายที่เกิดจากการใช้สมุนไพรนั้นจากข้อมูลการศึกษาที่มีหลักฐานชัดเจน จากข้อมูลที่อ้างอิงจากการทดลองหรือกรณีศึกษา การแบ่งจำแนกเป็น 7 กลุ่ม โดยที่สมุนไพร 1 ชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า 1 กลุ่ม ได้แก่
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ (Allergic reactions)
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดความเป็นพิษ (Toxic reactions) เช่น สมุนไพรที่เกิดความเป็นพิษต่อตับจากรายงานการใช้สมุนไพรใบขี้เหล็ก ในปี พ.ศ.2542 ในรูปแบบยาเม็ด (ยาเดี่ยว) ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือ สมุนไพรที่เกิดความเป็นพิษต่อไต ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต เช่น ชะเอมเทศ มะขามแขก น้ำลูกยอ มะเฟือง เป็นต้น
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects) คือ การใช้สมุนไพรบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ต้องการ เช่น กระทียม แปะก๊วยก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดเลือดออกได้ง่าย เป็นต้น
- การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร (Herb and drug reactions) 2 รูปแบบ คือ ปฏิกิริยาทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic interactions) โดยยาหรือสมุนไพรมีผลเปลี่ยนแปลงการดูดซึม การกระจายตัว เมแทบอลิซึม (Metabolism) และการกำจัดยาออกจากร่างกาย ซึ่งทำให้ปริมาณของยาหรือสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง และ ปฏิกิริยาทางเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic interactions) โดยยาหรือสมุนไพรมีผลเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย ทำให้ยาหรือสมุนไพรแสดงฤทธิ์เพิ่มขึ้น (Synergistic effects) หรือลดลง (Antagonist effects) เช่น การเกิดเลือดออกง่ายหรือเลือดไหลไม่หยุด จากการรับประทานสมุนไพร เช่น แปะก๊วย เก๋ากี้ กระเทียม ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดหรือต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Aspirin Warfarin หรือการรับประทานชาหรือชาเขียวร่วมกับยา Warfarin จะส่งผลยับยั้งประสิทธิภาพในการรักษาของยาเป็นต้น
- การใช้สมุนไพรผิดชนิด ผิดวิธี (Mistaken plants, Mistaken preparation) ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชนิดของสมุนไพรที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และมีความคล้ายคลึงกับพืชมีพิษบางอย่าง และจากการใช้สมุนไพรไม่ถูกชนิดได้ รวมทั้งการนำมาใช้โดยผิดวิธีเช่น การใช้ผิดส่วน การนำมาปรุงยาแบบผิดวิธี
- การปนเปื้อนในสมุนไพร (Contamination) ได้แก่ สารโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่เกินปริมาณที่กำหนดมากับตัวสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ โดยอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลัน และสารบางอย่างอาจมีการสะสมและก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาว
- สมุนไพรที่มีการปลอมปน (Adulterants) สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น มีการกล่าวอ้างว่าสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด หรือรักษาโรคได้หายรวดเร็วทันใจ ซึ่งจากการตรวจสอบหลายตัวอย่างจะพบการปนปลอมของสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและส่งผลต่อการรรักษา เช่น ยาสเตียรอยด์ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้หากใช้ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สมุนไพรมีความเข้าใจและสามารถใช้สมุนไพรได้ถูกต้องและปลอดภัยนอกจากการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสมุนไพรนั้น ๆ ว่าเหมาะสมต่อการนำมาใช้หรือไม่ และรู้ถึงการใช้อย่างถูกต้อง หรือมีหลักในการเลือกใช้ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร (หลัก 5 ถูก) ดังนี้
- ถูกต้นเนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกัน ชื่อเฉพาะท้องถิ่น ที่อาจเรียกชื่อแตกต่างกันทั้ง ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกันแต่เป็นพืชคนละชนิด เพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริง โดยอาจใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชแต่ละชนิดเป็นชื่อเรียกเพื่อป้องกันความสับสน และตรวจสอบเอกลักษณ์พืชโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืชที่อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์หรือในหนังสือพฤกษศาสตร์ที่เชื่อถือได้
- ถูกส่วนส่วนของพืชสมุนไพรแต่ละส่วนราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด หรือความสุก แก่ อ่อน ดิบของสมุนไพร อาจมีองค์ประกอบทางเคมีหรือสารสำคัญที่เหมือนหรือแตกต่างกันได้ หรือในพืชบางชนิดส่วนต่าง ๆของพืชอาจมีสารสำคัญที่เหมือนกันแต่มีปริมาณแตกต่างกัน จึงทำให้ความแรงหรือประสิทธิภาพในการรักษาแตกต่างกันได้ หรือในพืชบางชนิดบางส่วนใช้เป็นยา บางส่วนมีพิษ
- ถูกขนาด คือ แม้ว่ายาสมุนไพรหลายชนิดจะไม่อันตราย แต่ปริมาณ/ขนาดของการใช้ที่มากเกินขนาดอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้หรือผลการรักษา โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีความทนต่อยาน้อยกว่าผู้ใหญ่ และระยะเวลาการใช้ ที่ไม่ให้ใช้ติดต่อกันนานเกินกว่าคำแนะนำที่กำหนดควรหยุดยาเพื่อให้ร่างกายได้พักและกำจัดยาออกจากร่างกาย หากจำเป็นหรือมีความประสงค์ที่จะใช้สมุนไพรเป็นเวลานาน ควรมีการตรวจร่างกายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการใช้สมุนไพรเป็นระยะ ๆ ได้แก่ ตรวจการทำงานของตับ เช่น ตรวจเอนไซม์ตับ (AST, ALT) การทำงานของไต (BUN, Cr) ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
- ถูกวิธีวิธีการใช้ยาหรือการนำสมุนไพรมาปรุงประกอบยาให้ถูกต้องถูกตามหลัก เช่น บางชนิดต้องใช้ต้นสด คั้นน้ำ ต้มเคี่ยว ต้มกับน้ำ หรือดองเหล้า เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่แตกต่างจากวิธีโบราณหรือดั้งเดิม จำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนจะใช้จริง เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในพืชแต่ละชนิดมีความหลากหลาย การเปลี่ยนวิธีเตรียมยาอาจทำให้สารที่ถูกสกัดออกมาแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดอันตรายได้
- ถูกโรคเช่น หากต้องการบรรเทาอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาดจะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้นหรือถ้าหากจะใช้ร่วมกับการรักษาโรค หรือมุ่งหวังผลเพื่อการรักษาโดยตรง แนะนำให้หรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนไทย หรือเภสัชกร เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุด
นอกจากหลักการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ยังมีหลักในการพิจารณาและข้อแนะนำก่อนการพิจารณาเลือกใช้ หรือขณะใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น
- ควรศึกษาว่าผลิตภัณฑ์นั้นประกอบด้วยสมุนไพรชนิดใดหรือมีส่วนประกอบของสมุนไพรใด หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นจะได้ทราบว่าเกิดจากสมุนไพรชนิดใด และเก็บข้อมูลในการระวังการใช้ต่อไป
- หมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้สมุนไพรหากเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการใช้สมุนไพร ควรหยุดใช้ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็กไม่ควรที่จะใช้สมุนไพรถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะสมุนไพรที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย เนื่องจากสารบางชนิดในสมุนไพรสามารถผ่านรก ขับออกทางน้ำนม หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตได้
เอกสารอ้างอิง
1. ยุวดี วงษ์กระจ่าง, วสุ ศุภรัตนสิทธิ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: ข้อควรระวังการใช้สมุนไพร [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเเมื่อ 31มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก. https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/270/
- ยุวดี วงษ์กระจ่าง, วสุ ศุภรัตนสิทธิ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: สมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันกินด้วยกันดีมั้ย[อินเทอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเเมื่อ 31 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก.
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/209/
- รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และจุฑาธิป เขียววงศ์จันทร์. สมุนไพรและตำรับยาไทย : การเลือกใช้ตามหลักวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: หจก.สามลดา จำกัด, 2555.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์
- โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018