- หน้าแรก
- บทความ
- ความรู้แผนไทย
- แก้ปวดท้องประจำเดือนกับแพทย์แผนไทย
แก้ปวดท้องประจำเดือนกับแพทย์แผนไทย
ประจำเดือนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเพศหญิง โดยมีรอบเฉลี่ยของคนปกติคือ 28 วัน ในช่วงวัยรุ่นมักพบอาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยโดยประมาณ 25-90%(1) และมักมีอาการมากในช่วง 2 วันแรกของการมีประจำเดือน(1) สาเหตุการปวดประจำเดือนที่พบได้บ่อยคือ เยื่อบุโพรงมดลูกสร้างสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป ซึ่งสารนี้ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว เกิดอาการปวดบีบที่ท้องน้อย(2) นอกจากนี้อาจเกิดอาการผิดปกติที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆได้ เช่น ปวดขา ปวดหลัง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน(1)
ตามคัมภีร์มหาโชตรัตน์ ของแพทย์แผนไทยเรียกอาการผิดปกติเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นได้ในทุกเดือนของการมีประจำเดือนว่า “โลหิตปกติโทษ” หากหมดระดูอาการจะหายไป อาจเกิดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการถูกกระทบของธาตุ แต่ละคนจะมีอาการแสดงไม่เหมือนกัน เช่น ปวดท้อง/ปวดหลัง/ปวดขา (ธาตุลมอโธคมาวาตา) สะบัดร้อนสะบัดหนาว(ธาตุไฟสันตัปปัคคี), กังวล/หงุดหงิด (ธาตุลมหทัยวาตะ) ปวดศีรษะ(ธาตุลมอุทธังคมาวาตา) สาเหตุของอาการเหล่านี้มักเกิดจากธาตุไฟในร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้ธาตุลมในร่างกายไม่สมดุล สาเหตุตามคัมภีร์ที่กล่าวไว้ มีดังนี้
- รับประทานอาหารเผ็ดร้อน หรือเผ็ดจัดบ่อย
- ถูกทำร้ายหรือเกิดอุบัติเหตุกระทบกระแทก
- เล่นกีฬามากเกินไป
- ความเครียด หรือหมกมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป
- หมกมุ่นในกามอารมณ์
กลไกทางแผนไทย
ซึ่งหากมีอาการปวดไม่มากเราสามารถบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เช่น ประคบร้อน(3) ออกกำลังกาย เล่นโยคะ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่น ชาคาโมมายด์ หรือดื่มน้ำสมุนไพรรสเผ็ดร้อนเพื่อทำให้ธาตุลมในร่างกายเดินสะดวกขึ้น เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำไพล เป็นต้น
แนวทางการรักษาโดยแพทย์แผนไทย
- การกดนวดและประคบร้อน บริเวณบั้นเอว/ช่วงขา สามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้เดินสะดวกมากขึ้น
- รักษาด้วยยาสมุนไพร(4) เช่น
-
ยาขิง
มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน เจริญไฟธาตุ 2-3 แคปซูล ขณะมีประจำเดือน
ข้อควรระวัง- ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
-
ยาเลือดงาม
มีสรรพคุณ บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ฟอกเลือด ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ รับประทาน 2-4 แคปซูล
ข้อควรระวัง- ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้
-
ยาประสะไพล
มีสรรพคุณ บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน(5) รักษาระดูที่มาน้อยกว่าปกติ หรือ ช่วยให้ระดูให้มาปกติ รับประทาน 2-4 แคปซูล ก่อนมีประจำเดือน 7 วัน หรือขณะมีประจำเดือน 2-3 วันแรก
ข้อควรระวัง- กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน
-
ยาหอมเทพจิตร
มีสรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ(หทัยวาตะ) หมายถึง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น รับประทาน 3-4 เม็ด หากมีอาการ
ข้อห้าม- ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้เกสรดอกไม้
***หมายเหตุ หากสนใจยาสมุนไพรหรือมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย เพื่อการใช้ยาที่มีประสิทธิผล และปลอดภัย และหากมีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรัง แนะนำให้พบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม และรักษาให้ถูกวิธี ***
อ้างอิง
- Holder A, Edmundson LD, Erogul M (2009). Dysmenorrhea. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 30 มีนาคม 2563, จาก https://web.archive.org/web/20110222200910/http:/emedicine.medscape.com/article/795677-overview
- สุขุมาลย์ สว่างวารี. (2018). ปวดประจำเดือนรุนแรงระวังเสี่ยงสารพัดโรค. [บทความเผยแพร่ทางวิชาการ]. ค้นหาเมื่อ 30 มีนาคม 2563, จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2577/th/ปวดประจำเดือนรุนแรงระวังเสี่ยงสารพัดโรค
- Akin MD, Weingand KW, Hengehold DA, Goodale MB, Hinkle RT, Smith RP.( 2001). Continuous low-level topical heat in the treatment of dysmenorrhea. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 31 มีนาคม 2563, จากhttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11239634/
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. (2556). บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 31 มีนาคม 2563, จาก http://kpo.moph.go.th/webkpo/tool/Thaimed2555.pdf
- รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะเภสัชศาสตร์. ปวดประจำเดือนกับตำรับยาประสะไพล. [บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน]. ค้นหาเมื่อ 31 มีนาคม 2563, จากhttps://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/346/ยาตำรับประสะไพล-ปวดประจำเดือน/
- ณัฏฐินี อนันตโชค. มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะเภสัชศาสตร์. ดอกคาโมมายด์. [บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน]. ค้นหาเมื่อ 31 มีนาคม 2563, จากhttps://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/321/ดอกคาโมมายล์/
- P Inserra, A Brooks (2017). Getting to the Root of Chronic Inflammation: Ginger’s Antiinflammatory Properties. [ออนไลน์]. ค้นหาเมื่อ 1 เมษายน 2563, จาก https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9780128051863000059
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์
- โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018