ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด

การดูแลมารดาหลังคลอด ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือ เรียกว่า การอยู่ไฟ  เมื่อหลังจากการคลอดบุตร จะทำให้ธาตุในร่างกาย ทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดการเสียสมดุล โดยเฉพาะธาตุไฟ จะส่งผลให้มารดา      ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการคัดตึงเต้านมร่วมด้วย ซึ่งการดูแลมารดาหลังคลอด เป็นการฟื้นฟูสุขภาพมารดาจะช่วยให้ ร่างกายอบอุ่น ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ขับน้ำคาวปลา ลดอาการคัดตึงเต้านม ทำให้ธาตุทั้ง 4 ในร่างกายกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

สามารถทำดูแลมารดาหลังคลอด ได้เมื่อใด

  1. มารดาคลอดธรรมชาติ(คลอดเอง) หลังจากคลอดแล้ว 7-10 วันสามารถทำได้เลย ถ้าไม่มีอาการอ่อนเพลียจากการคลอดบุตร และแผลบริเวณช่องคลอดแห้งสนิทดี
  2. มารดาผ่าตัดคลอด สามารถทำได้หลังจากการผ่าตัดคลอดแล้ว 30 – 45 วัน หรือ จนกว่าแผลผ่าตัดจะหายและแห้งสนิทดี

การอยู่ไฟจะได้ผลดี ต้องทำไม่เกิน3 เดือนหลังจากคลอดบุตร การทำหลังคลอดนิยมทำ 5-10 วันต่อเนื่อง

ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด

  1. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่
  2. ช่วยขับน้ำคาวปลา
  3. ช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  4. ช่วยลดอาการคัดตึงเต้านม
  5. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการอาการอ่อนเพลีย
  6. ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระชับ หน้าท้องยุบ

ขั้นตอนการดูแลมารดาหลังคลอด

 

  1. นวดไทยแบบราชสำนัก


    มารดาหลังคลอดมักมีอาการ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาจเนื่องจากการคลอดบุตรและการดูแลบุตร ส่วนมากจะมีอาการปวด บ่า คอ หลัง การนวดจะช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการคัดตึงเต้านม

  2. การประคบสมุนไพร


    การประคบจะใช้ความร้อนที่พอดี ไม่ร้อนมากเกินไป และไม่ประคบด้วยแรงหนักเกินไป การประคบจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการบวม ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการคัดตึงเต้านม

  3. การทับหม้อเกลือ

    เป็นการใช้เกลือเม็ดใส่ในหม้อดินเผาตั้งไฟให้ประทุร้อน แล้ววางบนสมุนไพร และใบพลับพลึง แล้วห่อด้วยผ้า จากนั้นนำหม้อเกลือนาบบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หลังช่วงล่าง จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ช่วยขับน้ำคาวปลา  ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด  ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระชับ หน้าท้องยุบ และมีงานวิจัยแล้วว่าการทำทับหม้อเกลือ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้

  4. การอบไอน้ำสมุนไพร


    เป็นการเข้ากระโจม เพื่อให้ไอน้ำสัมผัสตัวให้มากที่สุด ตัวยาสมุนไพรประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ความร้อนจากไอน้ำจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยขับน้ำคาวปลา  ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกลิ่นสมุนไพรช่วยเพิ่มความสดชื่น หายใจโล่ง สบายตัวมากยิ่งขึ้น

  5. การนั่งถ่าน


    เป็นวิธีการรมบริเวณฝีแผลเย็บของมารดาหลังคลอด โดยการโรยผงยาสมุนไพรลงบนถ่านที่ติดไฟที่อยู่ในหม้อทะนน แล้วปิดปากหม้อด้วยกะลาตาเดียว นำไปวางด้านใต้ที่นั่ง ที่เจาะตรงกลาง ความร้อนและควันสมุนไพรจะพุ่งขึ้นมาสัมผัสบริเวณแผลฝีเย็บ การนั่งถ่านช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ทำให้แผลแห้งไม่อับชื่น

  6. การพันผ้าหน้าท้อง

    เป็นการใช้ผ้าพันรัดหน้าท้องของหญิงหลังคลอด การพันผ้าหน้าท้อง จะทำให้หน้าท้องกระชับ ช่วยพยุงหน้าท้อง และช่วยให้มดลูกเข้าอู่

  7. การพอกผิว


    คือ การนำสมุนไพรมาพอกผิว จะใช้ขมิ้นชัน ดินสอพอง น้ำผึ้ง น้ำเปล่า ผสมกันนำมาพอกผิวบริเวณรอยดำ ที่เกิดจากขณะตั้งครรภ์การพอกผิวจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง

ข้อห้ามที่มารดาไม่สามารถทำหลังคลอดได้

  1. มีไข้เกิน 37.5 องศา
  2. แผลผ่าตัด ยังไม่แห้งสนิทดี
  3. มีอาการอ่อนเพลีย
  4. รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
  5. แพทย์แจ้งงว่า มดลูกลอยตัว มดลูกยังไม่เข้าอู่

นอกจากการดูแลมารดาหลังคลอดตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว มารดาควรจะ รับประทานอาหารที่มีรสร้อน  เพื่อช่วยบำรุงธาตุไฟ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด เช่น ขิง พริกไทย กะเพรา ขมิ้นชัน เป็นต้น รับประทานอาหารบำรุงน้ำนม เช่น แกงเลียงหัวปลี ไก่ผัดขิง หลีกลี่ยงอาหารรสเย็น เช่น ฟัก แตงโม น้ำแข็ง เพราะอาหารรสเย็นจะไปลดธาตุไฟในร่างกาย  ควรดื่มน้ำอุ่น 2-3 ลิตร/วัน และที่สำคัญพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

ข้อมูลอ้างอิง

: การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

: บทความวิชาการ การอยู่ไฟคืออะไร สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดทำโดย นางสาว สุนันทา  แหล่งสะท้าน

แพทย์แผนไทยประยุกต์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม พญ. พิรัฐิมา วชิรปราการสกุล อาการผิดปกติของเต้านมที่ควรมาตรวจเพิ่มเติม คลำได้ก้อนผิดปกติที่เต้านม มีน้ำไหลออกจากหัวนมผิดปกติ : สีเหลือง, เลือดปนน้ำใส, เลือด มีแผลผิดปกติบริเวณหัวนม หรือ หัวนมบุ๋ม ที่เพิ่งเกิดขึ้น(ไม่ใช่เป็นแต่กำเนิด) มีเต้านม บวม แดง ร้อนอักเสบ หรือ มีแผลผิดปกติบริเวณเต้านม คลำได้ก้อนผิดปกติบริเวณรักแร้ —— การตรวจคัดกรอง โดยทั่วไปแนะนำให้ผู้หญิงเริ่มตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง เดือนละครั้ง ตั้งแต่อายุ 20 ปี และแนะนำให้ผู้หญิงที่ไม่มีอาการผิดปกติ เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี รวมถึงแนะนำให้เข้ารับการตรวจคลำเต้านมจากบุคลากรทางการแพทย์ปีละครั้ง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ สามารถเข้ามารับการตรวจก่อนได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอตามช่วงอายุข้างต้น หากต้องการตรวจคัดกรอง ติดต่อที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ และกรณีมีอาการ สามารถนัดหมาย คลินิก ศัลยกรรม

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อันตรายแค่ไหน

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก อันตรายแค่ไหน พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์             เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า uterine fibroids เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่มากที่สุดของการผ่าตัดมดลูก เนื้องอกดังกล่าวเป็นเนื้อปกติ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเนื้อร้าย ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์อาการคลำได้ก้อน เลือดออกผิดปกติ หรือมีปัสสาวะอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาจทำให้มีอาการปิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 20-50 เท่านั้นที่มีอาการ และเข้ารับการตรวจ   สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกนั้นถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ ดังนั้นจึงพบได้มากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และค่อยๆฝ่อเล็กลงในสตรีวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ ความอ้วน การไม่มีบุตร อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเนื้องอกมากขึ้นได้   อาการ ประจำเดือนออกผิดปกติ โดยประจำเดือนมักมามาก หรือมายาวนานขึ้น คลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อย มักคลำได้ชัดเจนขึ้นเมื่อนอนราบ ปวดหน่วงท้องน้อย หรือปวดตามรอบระดู อาการจากการกดเบียดของก้อนเนื้องอก เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรืออาจกดทับท่อไต ทำให้เกิดไตบวมน้ำได้ ภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตรง่าย อาจเกิดขึ้นได้จากก้อนเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก   การรักษา แนวทางการรักษา แบ่งเป็น 2 แนวทางหลักๆ […]

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID โดย พท.ป. วรรณดี ชิตเจริญธรรม พจ. ธีรวุฒิ ชาญศิริเจริญกุล และพจ. ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์ กลุ่มอาการ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 กล่าวไว้ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด (COVID – 2019) อาการลองโควิดโดยส่วนใหญ่เริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน มีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ระยะเวลาของอาการส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน และกลุ่มอาการมีความหลากหลายและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต โดยมักพบมีอาการภายหลังการติดเชื้อ 4-12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และ/หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ลักษณะอาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ […]

วัคซีนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ

วัคซีนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ พญ. เมธาวี อุฬารวงศ์ (สูตินารีแพทย์)             ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆหลายชนิด สำหรับวัคซีนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับในช่วงที่ฝากครรภ์ เพื่อป้องการอันตรายของมารดา และทารกในครรภ์ ประกอบด้วย 1. วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (TdaP, Tdap) หรือ วัคซีนป้องกันไอกรนชนิดเดี่ยว (acellular Pertussis; aP) โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน เป็นโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะไอกรนที่ทารกมักจะติดเชื้อจากมารดาหรือคนในครอบครัว มีคำแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap, TdaP) หรือ วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดเดี่ยว (aP) ในช่วงอายุครรภ์ 27 ถึง 36 สัปดาห์ หากเคยได้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก (tetanus vaccine) ครบถ้วนในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น แพทย์มักแนะนำวัคซีนดังกล่าวให้กับคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ในช่วงท้ายไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 โดยฉีดจำนวน 1 เข็ม ทั้งนี้ […]