โรคผิวหนังในฤดูฝน

ความรู้ทั่วไป, ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

โรคผิวหนังในฤดูฝน

                                                                                                                                                                                                                โดย พญ. เจษฎนภา      พิเชียรสุนทร                                                    
พญ. รุจิกาญจน์     สุลัญชุปกร     (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง)
พญ. วรุณย์พันธุ์     ลี้เจริญ           (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง)
นพ. วุฒิเดช           ฟักประไพ      (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง)

 

หลังจากประเทศไทยได้ผ่านช่วงฤดูร้อนกันมาแล้ว ตอนนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หน่วยผิวหนังของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จึงอยากแนะนำให้ประชาชนได้รู้จักกับโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน เพื่อจะได้รู้วิธีการดูแลรักษาและวิธีป้องกันเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์

มารู้จักกับ 4 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูฝนกันเถอะ
1. โรคเชื้อราที่ผิวหนัง
2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง
3. โรคน้ำกัดเท้า
4. โรคเท้าเหม็น

1. โรคเชื้อราที่ผิวหนัง

1.1 โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)

  • ผื่นเป็นวงหลายวง ขอบเขตชัดเจน มีขุยละเอียด เป็นได้หลายสี ทั้งสีขาว แดง ชมพู หรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับสีผิวของผู้ป่วย อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการคันเล็กน้อยได้
  • มักพบบริเวณหน้าอก หลัง คอ และพบได้บ่อยในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือใส่เสื้อผ้าอับชื้น
  • เกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur

การป้องกัน: อาบน้ำ ชำระล้างเหงื่อไคลอยู่เสมอ ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือเสื้อผ้าที่อับชื้น

การรักษา: ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งยาทาภายนอก และยารับประทาน

1.2 โรคกลาก (Tinea)

  • ผื่นเป็นวงกลมสีแดงนูน ขอบชัดและมีขุยที่ขอบ บางชนิดอาจมีการอักเสบรุนแรงเป็นตุ่มหนองได้
  • มักมีอาการคันร่วมด้วย
  • พบได้หลายบริเวณ เช่น ลำตัว ใบหน้า ขาหนีบ มือและเท้า
  • ผื่นมักขยายออกเป็นวงกว้าง หากไม่ได้รับการรักษา
  • เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes
  • หากสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าว ไม่แนะนำให้ซื้อยา steroids มาทาเอง เนื่องจากทำให้ผื่นลุกลามได้

การป้องกัน: ติดต่อทางการสัมผัส โดยขึ้นกับชนิดและแหล่งของเชื้อรา เช่น ติดจากคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม

การรักษา: ยาฆ่าเชื้อราชนิดทาภายนอกหรือชนิดรับประทาน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

1.3 โรคเชื้อราแคนดิดาที่ผิวหนัง (Cutaneous candidiasis)

  • ผื่นเป็นปื้นแดงใหญ่ ขอบเขตชัด มีผิวหนังเปื่อย และมีตุ่มแดงเล็ก ๆ กระจายอยู่รอบ ๆ มักมีอาการคัน
  • เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Candida
  • พบบริเวณซอกพับที่มีการอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนมและขาหนีบ เป็นต้น
  • พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

การป้องกัน: ดูแลรักษาความสะอาด คอยซับเหงื่อให้แห้งอยู่เสมอ ลดความอับชื้น

การรักษา: ยาทาฆ่าเชื้อรา

2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง

2.1 ตุ่มแมลงกัด (Insect bite)

  • ผื่นจากแมลงโดยทั่วไป เช่น มด ยุง หมัด ไร มักเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มที่มีลักษณะคล้ายลมพิษ
  • มักมีอาการคัน และอาจมีรอยดำตามหลังการอักเสบได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลและมีการติดเชื้อตามมาได้

การป้องกัน: สวมเสื้อผ้าที่ปกปิด กำจัดแมลงบริเวณที่อยู่อาศัย

การรักษา: ยาทาลดการอักเสบกลุ่ม steroids หากผื่นเป็นมาก แนะนำให้มาพบแพทย์

2.2 ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis)

  • แมลงก้นกระดกมีสารพิษที่ชื่อว่า Pederin ซึ่งหากสัมผัสโดนจะเกิดการอักเสบระคายเคืองอย่างรุนแรง
  • ผื่นมักจะขึ้นหลังสัมผัสสารพิษประมาณ 24 ชั่วโมง มีลักษณะเป็นผื่นแดงขอบชัด อาจมีรอยไหม้เป็นทางยาวได้ ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากการปัดแมลง อาจมีผื่นบริเวณข้อพับประกบกัน จากการที่มีแมลงไปอยู่บริเวณซอกพับดังกล่าว
  • มักมีอาการแสบ และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

การป้องกัน:
– สำรวจบริเวณที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่นอน
– ถ้าเจอแมลงก้นกระดก ไม่แนะนำให้บี้หรือสัมผัสโดยตรง อาจใช้อุปกรณ์จับหรือใช้เทปแปะเพื่อนำตัวแมลงออก

การรักษา:
– หากสัมผัสแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ทันที แล้วประคบเย็นบริเวณที่สัมผัส
– หากผื่นอักเสบมาก ให้มาพบแพทย์

3. โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)

  • โรคน้ำกัดเท้า หรือ “ฮ่องกงฟุต” เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง
  • ผื่นมักเป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า มีลักษณะเป็นสีขาว ยุ่ย ลอก หรือแตกเป็นแผลได้
  • มักมีอาการคัน และอาจมีกลิ่นเหม็นที่บริเวณเท้าร่วมด้วย
  • เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes

การป้องกัน: หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำขัง หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบูท ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ

การรักษา: ยาฆ่าเชื้อราชนิดทาภายนอกหรือชนิดรับประทาน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

4. โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis)

  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีหลุมบริเวณฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้าและเท้ามีกลิ่นเหม็น
  • มักพบในคนที่ต้องใส่รองเท้าบูท รองเท้าคอมแบท รองเท้ากีฬาเป็นเวลานาน หรือคนที่มีเหงื่อออกเท้าเยอะ

การป้องกัน: เปลี่ยนรองเท้าและถุงเท้าบ่อย ๆ ทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำ

การรักษา: ยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

 

References

  1. Wolff K, Johnson R. Fitzpatricks color atlas and synopsis of clinical dermatology, seventh edition. 7th ed. New York, NY: McGraw-Hill Professional Publishing; 2013.
  2. Wolff K. Fitzpatrick’s dermatology in general medicine, seventh edition: Two volumes. 7th ed.
    New York, NY: McGraw-Hill Professional Publishing; 2007.
  3. Mammino JJ. Paederus dermatitis: an outbreak on a medical mission boat in the Amazon. J Clin Aesthet Dermatol. 2011;4(11):44–6.
  4. เพ็ญวดี วัฒนปรีชากุล. ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis) [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล; 2560 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=965.

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]