- Home
- Blog
- ความรู้ทั่วไป
- รังสีร่วมรักษากับการรักษามะเร็ง
รังสีร่วมรักษากับการรักษามะเร็ง
รังสีร่วมรักษากับการรักษามะเร็ง
โดย นพ. พิพิธ ปิตุวงศ์ (แพทย์รังสีร่วมรักษาของลำตัว)
รู้หรือไม่!!!
- รังสีแพทย์ก็ทำการรักษาผู้ป่วยเหมือนกัน
- รังสีร่วมรักษา ไม่ใช่รังสีรักษานะ
- มะเร็งบางชนิดสามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และ ไม่ต้องได้ยาเคมีบำบัด
———————————————————————————————————————–
มารู้จักกับแพทย์รังสีร่วมรักษากันเถอะ
แพทย์รังสีร่วมรักษาเป็นแพทย์ที่เรียนต่อเฉพาะทาง ทางด้านรังสีวินิจฉัย ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยได้พบรังสีแพทย์ด้านนี้เท่าไหร่ เนื่องจากเราทำงานอยู่เบื้องหลัง ช่วยแปลผลภาพให้แพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ได้ดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง แม่นยำขึ้น เราจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องเอกซ์เรย์ เครื่องฟลูโอโรสโคปี้ระบบดิจิตอล เครื่องอัลตราซาวด์ และ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแพทย์เฉพาะทาง ทางรังสีลงไปอีก คือ แพทย์รังสีร่วมรักษา ที่จะใช้อุปกรณ์ทางรังสีดังกล่าว เพื่อนำทางในการรักษาผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่าตัด อีกทั้งมีความแม่นยำสูง และแผลเล็กนิดเดียว เช่น การเจาะระบายหนองทางหน้าท้อง, การให้ยาเคมีบำบัดกับเส้นเลือดที่จำเพาะไปยังก้อนมะเร็ง, การรักษาภาวะหลอดเลือดผิดปกติผ่านทางสายระบายหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัด และ การจี้ก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็กโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น
รังสีร่วมรักษานะ ไม่ใช่รังสีรักษา
หลายคนมีความสับสนระหว่างแพทย์รังสีร่วมรักษา กับ แพทย์รังสีรักษา ด้วยความที่ชื่อภาษาไทยมีความคล้ายกันอย่างมาก แต่อันที่จริงการทำงานของเราต่างกันโดยสิ้นเชิง เปรียบเทียบได้ตามตารางข้างล่างนี้
รังสีร่วมรักษา | รังสีรักษา |
ภาษาอังกฤษ คือ Interventional radiologist | ภาษาอังกฤษ คือ Radiation oncologist |
แพทย์รังสีร่วมรักษา สามารถแปลผลภาพทางรังสีได้เช่นเดียวกับแพทย์รังสีวินิจฉัย และ ยังสามารถใช้อุปกรณ์ทางรังสี เพื่อนำทาง เข็ม, เข็มให้ความร้อน, สายระบายต่างๆ, สายสวนหลอดเลือด เป็นต้น เข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา ได้อย่างแม่นยำ และ แผลเท่ารูเข็ม แต่ต้องมีการสัมผัสตัวผู้ป่วย | แพทย์รังสีรักษา งานหลักคือ ฉายรังสีจากภายนอกร่างกายเข้าไปบริเวณที่ต้องการรักษาซึ่งมักจะเป็นมะเร็ง โดยจุดประสงค์เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยไม่ต้องสัมผัสตัวผู้ป่วย หรือที่เรียกกันติดปากว่าการ ฉายแสง |
ต้องมีการสัมผัสตัวผู้ป่วย แต่ไม่ใช่การผ่าตัด | ไม่ต้องสัมผัสตัวผู้ป่วย อาศัยรังสีจากภายนอก |
มะเร็งบางชนิดสามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และ ไม่ต้องได้ยาเคมีบำบัด
เป็นเรื่องจริงที่มะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และ ไม่ต้องได้ยาเคมีบำบัด นั่นคือการจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มผ่านทางผิวหนัง ทำการรักษาโดย รังสีแพทย์ร่วมรักษา ซึ่งมักทำในมะเร็งที่ตับ ไต ตับอ่อน หรือ ปอด แต่ต้องมีขนาดไม่ใหญ่มาก และ ยังไม่กระจายไปอวัยวะอื่น
การจี้ก้อนเนื้องอกโดยใช้เข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นวิทยุหรือคลื่นไมโครเวฟ สอดผ่านผิวหนังเข้าตำแหน่งเนื้องอกโดยไม่ต้องผ่าตัด จากนั้นให้กระแสไฟฟ้าหรือพลังงานคลื่นไมโครเวฟเพื่อให้เกิดความร้อนอุณหภูมิสูงรอบเข็ม เพื่อช่วยทำลายก้อนเนื้องอกในรัศมี ประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร รอบปลายเข็ม
ข้อดีของการจี้ก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็กโดยไม่ต้องผ่าตัด
แผลมีขนาดเล็ก ความเสี่ยงต่ำ พักฟื้นเร็ว และ สามารถทำซ้ำได้
ขั้นตอนการตรวจ
- ผู้ป่วยนอนราบบนเตียงในห้องตรวจ หรือ นอนในท่าที่เหมาะสม ตามที่แพทย์พิจารณา
- แพทย์อัลตราซาวด์ หรือ เอ๊กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ดูตำแหน่งของบริเวณที่จะจี้ก้อนเนื้องอก
- แพทย์ทำการฉีดยาชาบริเวณที่จะจี้ก้อนเนื้องอก
- แพทย์สอดเข็มไปตำแหน่งก้อนเนื้องอก โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือ เอ๊กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ในการดูตำแหน่งที่เหมาะสม
- ก่อนการจี้เนื้องอก วิสัญญีแพทย์ให้ยานอนหลับหรือยาสลบ
- แพทย์ให้ความร้อนผ่านเข็ม
- เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ แพทย์จะถอนเข็มออก และกดห้ามเลือดที่แผล จึงปิดด้วยผ้าปิดแผลสะอาด
ภาวะแทรกซ้อน
เกิดภยันตรายกับอวัยวะข้างเคียงหรือหลอดเลือด แต่พบได้น้อย โดยความเสี่ยงจะมีมากขึ้นในกรณีที่เนื้อเยื่อที่ต้องการมีเลือดไปเลี้ยงจำนวนมาก และ หากเกิดภาวะเลือดออกดังกล่าวอาจต้องรับการรักษาเพิ่มเติมโดยการอุดหลอดเลือด
จะเห็นว่าในปัจจุบันการรักษามะเร็งมีทางเลือกมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และมีแพทย์สหสาขาวิชา ได้แก่อายุรแพทย์, ศัลยแพทย์, รังสีแพทย์, แพทย์รังสีรักษา และ แพทย์รังสีร่วมรักษา ร่วมกันรักษาผู้ป่วย ซึ่งทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงมีการประชุมแพทย์เป็นระยะ( multidisciplinary conference)เพื่อให้ได้การรักษาที่ดีที่สุด และ เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ ที่งานรังสีเทคนิก ชั้น 2 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก หรือ โทรสอบถามได้ที่เบอร์ 028496600 ต่อ 3155
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม
คลินิกรังสีวินิจฉัย
- โทร 02 849 6600 ต่อ 3155 , 3156