คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19)

ความรู้ COVID19, ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

 

 

คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19)

 

 

คำแนะนำในการสังเกตอาการตนเอง

– ให้สังเกตอาการตนเองวัดอุณหภูมิและ oxygen saturation  ทุกวัน

หากมีอาการแย่ลง คือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้เช่นหอบเหนื่อยไข้สูงลอยไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่

– เมื่อจะต้องเดินทางไป โรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับไม่ใช้รถสาธารณะให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทางหากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วยให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

 

โรคโควิด-19

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยการหายใจเอาละอองฝอยน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อเข้าไปจากการ ไอ จาม และพูดคุยกัน เชื้อยังสามารถเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก และตา ผ่านมือที่ปนเปื้อนเชื้อจากการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้ออยู่ ดังนั้นผู้ที่เป็นโควิด-19 ที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นหลังจากนั้นอาจไม่ต้องแยกตัวเองแต่ แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยและระมัดระวังสุขอนามัย ส่วนบุคคลเป็นพิเศษต่อจนครบ 1 เดือน

 

ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลหรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้นๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานพักฟื้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการน้อยส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายสนิท อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์แรก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเองเมื่อไม่แน่ใจสามารถโทรศัพท์ปรึกษาหรือเข้าไปรับการตรวจประเมินได้โดยติดต่อไปยังโรงพยาบาลก่อนจะทำให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมได้

 

ลักษณะของบ้านพักอาศัยที่เหมาะสม

“บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้เป็นโควิด-19 ในช่วงที่ต้องแยกตัวควรจะต้องมีลักษณะดังนี้  มิฉะนั้นอาจต้องหาสถานที่อื่นที่เหมาะสม

 

– มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง

– อยู่อาศัยตามลำพังหรือ ร่วมกับผู้อื่นโดยมีห้องส่วนตัว

– ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยและการแยกจากผู้ป่วยได้

– สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้และเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระหว่างแยกตัวควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดดังนี้

  1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัวและงดการออกจากบ้าน
  2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ หากยังมีอาการไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัย แม้ขณะอยู่ในห้องส่วนตัว โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยไม่ให้ใช้หน้ากากผ้า
  3. หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยได้อยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือประมาณ 1 ช่วงแขนหากไอ จาม ไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตรและให้หันหน้าไปยังทิศทางตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
  4. หากไอจาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัยไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออกเนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน หาก ไอ จาม ขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
  5. ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ (หากมือเปรอะเปื้อนให้ล้างด้วยสบู่และน้ำ)​ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ และก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น ฯลฯ
  6. กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร
  7. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ
  8. การทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิว ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์)​โดยใช้ 5% โซเดียมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 99 ส่วน หรือ 0.5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อ น้ำ 9 ส่วน)​
  9. แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ด ตัวโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์
  10. ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้แล้วแยกรับประทานคนเดียว ถ้าเป็นอาหารที่สั่งมาและต้องเป็นผู้รับอาหารนั้น ควรให้ผู้ส่งอาหารวางอาหารไว้ ณ จุดที่สะดวกแล้วไปนำอาหารเข้าบ้าน ไม่รับอาหารโดยตรงจากผู้ส่งอาหาร
  11. ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ หากใช้เครื่องซักผ้าให้ใช้ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มได้
  12. การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ให้ใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด ทำความสะอาดมือด้วยอลกอฮอล์ หรือน้ำ และสบู่ทันที

 

การปฏิบัติตัวของผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านและการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมในบ้าน

  1. ทุกคนในบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย
  2. ควรล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน หรือมีการปนเปื้อน รวมถึงล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ โดยใช้น้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นอย่างน้อย 70 %
  3. เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิด หรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย
  4. ควรนอนแยกห้องกับผู้ป่วย
  5. ไม่รับประทานอาหารและใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]