“ก้าวตา ก้าวเต้น” การออกกำลังกายเพื่อหัวใจที่แข็งแรง

ความรู้แผนไทยลงวันที่

โรคหัวใจ คืออะไร

โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น

อาการของโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง

  1. เจ็บแน่น อึดอัดหน้าอก บริเวณกลางหน้าอก หรือบริเวณด้านซ้าย หรือทั้งสองด้านของหน้าอก มักไม่เป็นด้านขวาของหน้าอกอย่างเดียว อาจร้าวไปที่แขนข้างซ้ายหรือทั้งสองข้าง หรือจุกแน่นคอ กรามได้
  2. หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง หรือขณะพัก ตามระดับความรุนแรงของโรค
  3. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ เต้นไม่สม่ำเสมอ สัมพันธ์กับชีพจร
  4. ขาบวม เกิดจากห้องหัวใจด้านขวาทำงานลดลง ทำให้เลือดจากขาไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่สะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น
  5. เป็นลมวูบ ตาลาย หน้ามืด มองเห็นภาพไม่ชัดเจน เกือบหมดสติหรือหมดสติชั่วขณะได้

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง

  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ
  • ความเครียด
  • รับประทานอาหารรสเค็มจัด
  • การไม่ออกกำลังกาย

 

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นอย่างไร

การออกกำลังกายมีประโยชน์กับผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น โดยจุดมุ่งหมายใหญ่ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ มี 2 ข้อ คือ

  1. ลดการดำเนินของโรค เพื่ออายุที่ยั่งยืน
  2. สร้างสุขภาพที่แข็งแรง ใกล้เคียงหรือเท่ากับก่อนเป็นโรคหัวใจ

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ มีพื้นฐานคล้ายการออกกำลังกายคนปกติ โดยจะเน้นการออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะ ๆ  ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เป็นต้น โดยการออกกำลังกายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic exercise) ทั้งหมด ซึ่งการออกกำลังกายแบบนี้เป็นการออกกำลังกายโดยนำออกซิเจนไปช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน อีกทั้งยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจแข็งแรงขึ้น

การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะในผู้ป่วยโรคหัวใจ เริ่มแรกควรออกกำลังกายอย่างเบา ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรรีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก เมื่อเริ่มชิน จึงค่อยเพิ่มเวลาของการออกกำลังกายให้มากขึ้น จนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และควรทำเป็นประจำทุกวัน โดยก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้งควรเตรียมร่างกาย (warming up and down) ให้พร้อมเสมอ

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่พึ่งฟื้นตัวจากภาวะเฉียบพลันทางหัวใจหรือการผ่าตัดมานั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินผลการรักษาโดยทดสอบสมรรถภาพหัวใจและสมรรถภาพทางร่างกาย ก่อนที่จะให้คำแนะนำการออกกำลังกาย ทั้งประเภท ระดับ และระยะเวลาในการออกกำลังกาย ตลอดจนกำกับการฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Cardiac rehabilitation program)

ทางการแพทย์แผนไทย การออกกำลังกาย จัดอยู่ในหลักธรรมานามัยส่วนของกายานามัย หรือ Healthy body ซึ่งเป็นการบริหารสุขภาพกายให้ดี โดยมีความเชื่อว่า การอยู่เฉย ๆ หรือความเฉื่อยชา (inert body) จะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สำหรับการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจโดยหลักกายานามัยนั้น สามารถทำได้หลายวิธีตามที่กล่าวข้างต้นมาแล้ว ยังมีการออกกำลังกายที่สามารถบริหารได้ง่ายทำได้ทุกที่และเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยอีกหนึ่งชนิด คือ ก้าวตา-ก้าวเต้น

ก้าวตา-ก้าวเต้น คืออะไร

ก้าวตา-ก้าวเต้น เป็นวิธีการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ คิดค้นขึ้น  โดยการก้าวเท้าในตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 90×90 หรือ 120×120 หรือ 150×150 โดยแบ่งเป็น 9 ช่อง ขนาดเท่าๆกัน ซึ่งจะช่วยฝึกหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดให้มีความแข็งแรง และป้องกันโรคหัวใจเสื่อมสภาพ

ก้าวตา หรือ อวยเทสต์

เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ใช้แทนการทดสอบความไวด้วยวิธี “วิ่งเก็บของ” โดยเท้าทั้งสองข้างยืนอยู่ในตารางมุมซ้ายใกล้ตัว เป็นท่าเตรียม

วิธีการบริหาร

1. ก้าวเท้าขวา ไปยังตารางมุมขวาใกล้ตัว พร้อมชักเท้าซ้ายตามมา ให้เท้าทั้งสองยืนอยู่ในตารางเดียวกัน
2. ก้าวเท้าขวา ไปยังตารางมุมขวาไกลตัว พร้อมชักเท้าซ้ายตามมา ให้เท้าทั้งสองยืนอยู่ในตารางเดียวกัน
3. ก้าวเท้าซ้าย ไปยังตารางมุมซ้ายไกลตัว พร้อมชักเท้าขวาตามมา ให้เท้าทั้งสองยืนอยู่ในตารางเดียวกัน
4. ก้าวเท้าซ้าย ไปยังตารางมุมซ้ายใกล้ตัว พร้อมชักเท้าขวาตามมา ให้เท้าทั้งสองยืนอยู่ในตารางเดียวกัน ซึ่งเป็นท่าเดียวกับท่าเตรียม
ทำข้อ 1-4 นับเป็น 1 รอบ ทำซ้ำอย่างน้อย 5 รอบ หรือทำติดต่อกันนาน 5 นาที แล้วเปลี่ยนไปยืนตารางมุมขวาใกล้ตัวเป็นท่าเตรียม แล้วก้าวเวียนไปด้านตรงข้าม ในระยะรอบหรือเวลาที่เท่ากัน โดยมีหลักการให้ก้าวเร็วที่สุด

ก้าวเต้น

ท่าเตรียม

เท้าซ้ายอยู่ในตารางมุมซ้ายใกล้ตัวและเท้าขวาอยู่ในตารางมุมขวาใกล้ตัว

วิธีการบริหาร

1. ก้าวเท้าซ้าย ทะแยงไปยังตารางมุมขวาไกลตัว
2. ก้าวเท้าขวา ข้ามเท้าซ้าย ทะแยงไปยังตารางมุมซ้ายไกลตัว
3. ก้าวเท้าซ้าย ทะแยงกลับไปยังตารางมุมซ้ายใกล้ตัว
4. ก้าวเท้าขวา ทะแยงกลับไปยังตารางมุมขวาใกล้ตัว
เวียนกลับไปยังข้อที่ 1-2-3-4 ซ้ำ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ หรือเปลี่ยนไปเวียนด้านตรงข้ามโดยใช้เท้าขวาเริ่ม โดยมีหลักการก้าวให้เร็วที่สุด หากก้าวด้วยความเร็วสูง (ประมาณ 120-130 ก้าวต่อนาที) โดยใช้เวลา 7-8 นาทีติดต่อกัน จะทำให้ชีพจรเต้นเร็วถึง 160 ครั้งต่อนาทีหรือมากกว่า ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับการฝึกหัวใจเพื่อป้องกันโรคหัวใจเสื่อมสมรรถภาพโดยให้นาน

 

ข้อเสนอแนะในการทำก้าวตา-ก้าวเต้น

  1. เริ่มแรกในการทำก้าวตา-ก้าวเต้น ควรทำให้ช้า ไม่หักโหม หากมีอาการเหนื่อยมาก สังเกตได้จาก การเต้นของหัวใจที่เร็วและแรงขึ้น เริ่มพูดไม่เป็นประโยค หอบเหนื่อย หรือมีอาการผิดปกติให้หยุดพักทันที หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน
  2. ควรระมัดระวังการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุระหว่างการออกกำลังกาย เนื่องจากทุกครั้งที่ก้าวนั้นจะต้องไม่เหยียบเส้นตาราง และบางรายอาจจะไม่มองตารางด้วย เพื่อฝึกสมาธิและจิตใจ
  3. สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายเป็นหมู่คณะ หรือมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยขณะออกกำลังกาย
  4. ควรบริหารอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์มากเพียงใด แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจจำเป็นต้องระมัดระวังความผิดปกติจากการออกกำลังกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย โอกาสเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการออกกำลังกายน้อยมาก แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และออกกำลังกายมากเกินไป จะทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจตีบมาก จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และจะทำให้มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นผิดปกติในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหัวใจประเภทอื่น ๆ จากภาวะเลือดคั่งในปอด เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจควรปรึกษาและได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มการออกกำลังกายเสมอ นอกจากนั้นพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน (ชีวิตานามัย) และสภาพจิตใจ (จิตานามัย) ก็มีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้ หากรับประทานยาให้สม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล จะทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีสุขภาวะทางกายและใจที่ดี ลดการดำเนินของโรค และมีอายุที่ยืนนานขึ้นได้

เกร็ดความรู้

หลักธรรมานามัย

ธรรมานามัย ประกอบด้วย 2 คำ คือ ธรรมะ ที่แปลว่า ธรรมชาติ  กับ อานามัย ที่แปล่วา การมีสุขภาพที่ดี เมื่อนำทั้งสองคำนี้มารวมกัน จะได้ความหมายว่า การมีสุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติ หรือ Healthy by  natural method โดยประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. กายานามัย หรือ Healthy body คือ การมีสุขภาพกายที่ดี โดยการทำท่าบริหาร หรือการออกกำลังกายต่าง ๆ
  2. จิตตานามัย หรือ Healthy mind คือ การมีสุขภาพจิต สุขภาพใจที่ดี โดยการตระหนักรู้และมีสติในทุกการกระทำ
  3. ชีวิตานามัย หรือ Healthy behavior คือ การมีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การอยู่ในที่ที่สะอาด เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง