การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19

ความรู้ COVID19, ความรู้เด็ก   ลงวันที่

การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19

เมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลงจนควบคุมได้แล้ว จะต้องมีมาตรการปลด lock down แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังคงต้องเน้นนโยบาย Social distancing , hand hygiene เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหม่อย่างรุนแรงดังเช่นเห็นได้จากต่างประเทศ ดังนั้น บทความนี้จึงขอเสนอวิธีการปฏิบัติตัวของเด็กขณะมีมาตรการ lock down ทั้งในเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่บ้าน เมื่อต้องเข้าชุมชนเช่นไปสถานศึกษา การยังคงมีกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตในเด็กก่อนวัยเรียนและเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น และการไปโรงพยาบาลเพื่อรับวัคซีนหรือเมื่อมีภาวะเจ็บป่วย เป็นต้น

การดูแลปฏิบัติตัวในเด็กเมื่ออยู่บ้านและที่ชุมชน

ปัจจัยสำคัญที่สามารถลดการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ให้ช้าลงคือ ลดการไปพบปะผู้คนจำนวนมาก สอนให้เด็กรู้จัก Social distancing เช่น ลดกิจกรรมในสถานศึกษาที่ต้องเข้าร่วมกับคนหมู่มาก อย่างไรก็ตาม เด็กยังคงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรจัดเวลาที่จะให้เด็กได้ออกกำลังกายบ้าง โดยทางหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แบ่งความเสี่ยงในการทำกิจกรรมเพื่อออกกำลังกายเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  1. ความเสี่ยงต่ำสุด เช่น การเล่นในบ้านคนเดียวหรือกับคนในครอบครัว
  2. ความเสี่ยงเล็กน้อย เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม
  3. ความเสี่ยงปานกลาง เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรแข่งขันเป็นกลุ่ม
  4. ความเสี่ยงมาก เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมแข่งขันเป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก แต่บุคคลมาจากพื้นที่เดียวกัน
  5. ความเสี่ยงสูงสุด เช่น การเล่นหรือทำกิจกรรมแข่งขันเป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนมาก แต่บุคคลมาจากต่างพื้นที่กัน

กิจกรรมการออกกำลังกายที่แนะนำในเด็กและวัยรุ่น

กิจกรรมการออกกำลังที่แนะนำในเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 3-5 ปี) ได้แก่

  • ควรมีกิจกรรมทางกายตลอดวันเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการ แต่ไม่ควรให้เด็กไปเล่นเป็นกลุ่มกับเด็ก ๆ คนอื่น
  • ผู้ปกครองควรส่งเสริมผ่านทางการเล่นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันและจำกัดเวลาบนหน้าจอ กิจกรรมการออกกำลังที่แนะนำในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-17 ปี)
  • เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นควรออกกำลังอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง 3 วันต่อสัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ ออกกำลังแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่ง การออกกำลังที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกเช่น วิ่ง กระโดด     ออกกำลังที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเช่น ปีนป่าย วิดพื้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 ควรเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการสัมผัสทางกายน้อย เช่น ขี่จักรยาน แบดมินตัน ควรเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกัน (เช่นกีฬาที่มีผู้เล่นหลายคน) และระยะเวลาการเล่นที่ต้องพบผู้อื่นไม่ควรนาน เพื่อลดระยะเวลาการเสี่ยงสัมผัสโรค ที่สำคัญ หากออกนอกบ้านควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร

นอกจากนี้ยังมีหลักปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดย

  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้องเช่น ก่อน-หลัง รับประทานอาหาร ใส่และถอดหน้ากาก จับบริเวณใบหน้า โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือ 60 %แอลกอฮอล์เจลขึ้นไป นานอย่างน้อย 20 วินาที และสอนปฏิบัติตามแนวทาง Social distancing ในเด็กโต
  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะเด็กอาจไม่รู้จักเอาหน้ากากออกเองเมื่อหายใจไม่ออก เด็กทารกให้คลุมผ้าที่รถเข็นแทนเพื่อให้เด็กยังสามารถหายใจได้สะดวก
  • หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ๆมีผู้คนอยู่รวมกันมากๆ หรือที่จะใกล้ชิดผู้ป่วยหรือไปเยี่ยมพบปะผู้ใหญ่ที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
  • ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ห้องน้ำ รวมทั้งของเล่น ฯลฯ เป็นประจำ ด้วยน้ำยาฟอกขาวเจือจาง 1 ส่วนในน้ำ 99 ส่วน (ความเข้มข้น 0.05% หรือเท่ากับ 500 ppm) สำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะสามารถใช้ 70% แอลกอฮอล์ทำความสะอาดได้ หากเป็นผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอกและใช้น้ำอุณหภูมิ 70 °C นอกจากนั้นเสื้อผ้าผู้ป่วยสามารถซักรวมกับผู้อื่นได้
  • คอยหมั่นสังเกตดูแลสุขภาพเด็กอยู่เสมอหากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรค COVID-19 ให้โทรปรึกษาหน่วยงานสถานพยาบาล ระมัดระวังไม่ให้เด็กใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวและหากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาโรงพยาบาล
  • ผู้ปกครองคอยหมั่นสังเกตว่าเด็กมีความเครียดหรือความกังวลใจหรือไม่ กระตุ้นให้เด็กถามหรือระบายความรู้สึกออกมาหากมีความไม่สบายใจ ผู้ปกครองมีหน้าที่อธิบายให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค COVID-19 ที่ถูกต้อง
  • ป้องกันการถูกตีตราหากมีเด็กเจ็บป่วยโดยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
  • ผู้ปกครองควรช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่นช่วยเด็กในการศึกษาทางออนไลน์
  • คำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเด็กต้องเข้าสู่สถานศึกษา และคำแนะนำสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากร
  • เด็กนักเรียน ครู บุคลากร เมื่อป่วยไม่ควรมาสถานศึกษา
  • สถานศึกษาควรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการล้างมือให้บุคลากร ครูและเด็กนักเรียน โดยให้ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 60% แอลกอฮอล์เจลขึ้นไปนอกจากนี้ควรทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณสถานศึกษาทุกวัน
  • สถานศึกษาควรจัดหาน้ำ สบู่ แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดให้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ควรทิ้งและกำจัดขยะทุกวัน
  • ควรรณรงค์ให้มีนโยบาย Social distancing ในสถานศึกษาเช่น จำกัดคนรวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • เพิ่มระบบการหมุนเวียนและการถ่ายเทอากาศ เช่นเปิดหน้าต่าง ใช้เครื่องปรับอากาศเมื่อจำเป็น

การให้ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมตามอายุ

  • เด็กก่อนวัยเรียน

เน้นย้ำเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม อาจใช้ตุ๊กตาเป็นสื่อกลางสาธิตการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ฝึกให้เด็กล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างถูกต้อง นาน 20 วินาที โดยใช้เพลงเป็นสื่อกลางช่วยประกอบการฝึก

หาวิธีประเมินผลและติดตามการล้างมือของเด็ก ให้รางวัลเมื่อเด็กสามารถทำได้ดี บ่อยและถูกต้อง

สอนวิธีการปฏิบัติตัว หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง รู้สึกเหนื่อย และการปฏิบัติตัวเมื่อพบคนเจ็บป่วย เช่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย

ให้เด็กรู้จักการเว้นระยะห่าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นระยะช่วงแขนของเด็ก อาจใช้คำว่า “กางปีก”  เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น และมีระยะห่างเพียงพอที่จะไม่สัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อน

  • นักเรียนชั้นประถม

คอยรับฟังความกังวลและตอบคำถามเมื่อเด็กเกิดข้อสงสัย หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่มากเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึกและอธิบายความรู้สึก

เน้นย้ำเรื่องวิธีการปฏิบัติตัวให้ตัวเพื่อให้ปลอดภัย ห่างไกลจากโรค เช่น การรักษาระยะ Social distancing หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดหรือการไปในที่ชุมชน พฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นล้างมือบ่อย ๆ การใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม

ช่วยให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรค การป้องกันโรค อย่างง่าย ๆ เช่น สาธิตว่าโรคแพร่กระจายได้อย่างไร ผ่านการใช้สเปรย์สีพ่นลงกระดาษขาว และให้สังเกตว่าละอองฝอยกระจายไปได้ไกลเท่าใด

สาธิตให้เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือนาน 20 วินาที เช่น ทากากเพชรลงบนมือเด็กเปรียบเทียบกับกากเพชรที่เหลืออยู่หลังการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกต้อง

ฝึกให้เด็กวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

  • นักเรียนชั้นมัธยมตอนต้นและตอนปลาย

ผู้ปกครองควรคอยรับฟังความกังวลและตอบคำถามเด็ก

เน้นย้ำความสำคัญของของเรื่อง Social distancing การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นล้างมือบ่อย ๆ การใช้ต้นแขนปิดปาก จมูก เมื่อไอ จาม

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เด็กสามารถเป็นตัวอย่างในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับคนในครอบครัวได้

ส่งเสริมการป้องกันและจัดการกับปัญหาการถูกตีตรา เปิดโอกาสให้เด็กได้สื่อสารหรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม

ส่งเสริมให้มีตัวแทนเด็กนักเรียนที่ประกาศหรือรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายสุขภาพของสถานศึกษาเช่นผ่านทางโปสเตอร์

รวบรวมความรู้เกี่ยวกับโรค COVID-19 ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับ ไวรัส การแพร่กระจาย การติดต่อของโรคและความสำคัญของการรับวัคซีน ด้านสังคม เช่นประวัติศาสตร์ของการระบาด การปรับเปลี่ยนนโยบายและความปลอดภัยทางสาธารณสุขในการควบคุมการระบาดของโรค นอกจากนี้ควรมีบทเรียนเกี่ยวกับด้านการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เด็กนักเรียนคิดวิเคราะห์และสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางวิธีการปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อเตรียมตัวเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา

สถานศึกษาควรมีแนวทางการปฏิบัติหากเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19 ในชุมชนหรือเมื่อพบผู้ป่วยโรค COVID-19 ในสถานศึกษาเพื่อจะได้สามารถควบคุม ลดการแพร่ระบาดหรือบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์โรค COVID-19 โดยควรแบ่งแนวทางเป็น 4 สถานการณ์ดังนี้

  1. วางแนวทางแผนการรับมือและเตรียมตัวแม้เมื่อไม่มีการระบาดของโรค COVID-19 ในชุมชน
  • คอยติดตามสถานการณ์ข่าวสาร ข้อมูลใหม่ ๆ รวมทั้งมีการวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินตามแนวทางของสถานพยาบาล
  • พัฒนาการให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ
  • ให้ความรู้แก่บุคลากรเพื่อจะได้สอนนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่นการล้างมืออย่างถูกต้อง
  • ทำความสะอาดสถานศึกษาและพื้นผิวเป็นประจำ
  • เฝ้าระวังและติดตามนักเรียนหรือบุคลากรในสถานศึกษาที่เจ็บป่วยหากมีผู้เจ็บป่วยด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจให้ปรึกษาบุคลากรในสถานพยาบาล เนื่องจากอาการนั้นอาจคล้ายคลึงกับโรค COVID-19
  • เลื่อนการรรวมตัวหรือการรวมกลุ่มในสถานศึกษาโดยไม่จำเป็น
  • บุคลากรในสถานศึกษาและนักเรียนเมื่อเจ็บป่วยให้หยุดอยู่บ้าน
  1. เมื่อมีผู้เจ็บป่วยโรค COVID-19 จำนวนเล็กน้อยถึงปานกลางในชุมชน
  • ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลเพื่อให้ช่วยประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงนั้นเพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว
  • วางแนวทางและเน้นย้ำถึงนโยบาย Social distancing เช่นลดการรวมตัวในกิจกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของนักเรียนในพื้นที่ส่วนกลาง จำกัดจำนวนคนในการเรียนการสอนบางวิชาเป็นต้น
  • พิจารณาที่จะผ่อนปรนระเบียบให้ตามความจำเป็นกับนักเรียนที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อโรค COVID – 19 รุนแรง หรือผู้ปกครองที่มีความกังวล
  1. เมื่อมีผู้ป่วยโรค COVID-19 และมีการแพร่ระบาดในชุมชนชัดเจน
  • ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ช่วยประเมินสถานการณ์ถึงการระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงนั้นเพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว
  • พิจารณาประกาศหยุดสถานศึกษาต่อ
  1. เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันโรค COVID-19 ในสถานศึกษาถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบาดในชุมชนก็ตาม
  • ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลที่รับผิดชอบกับพื้นที่บริเวณนั้น ๆ โดยตรง
  • ให้นักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษานั้นหยุด 2-5 วันและยกเลิกกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเช่นการเรียนการ   สอนที่ต้องรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องได้ลงสอบสวนและประเมินถึงสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษานั้น ๆ
  • ทางสถานศึกษาควรให้ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรค COVID-19 อย่างถูกต้องทั้งกับนักเรียน ผู้ปกครองและบุคลากรและลดการถูกตีตรา (หากมีผู้ป่วยเป็นนักเรียนหรือบุคลากร) ในสถานศึกษานั้น ๆ
  • ทำความสะอาดในสถานศึกษานั้น ๆ เช่นห้องน้ำ ห้องเรียน หรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน รวมทั้งพื้นผิว ด้วยน้ำยาฟอกขาวปริมาณ 5 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 1 แกลลอนหรือสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ขณะประกาศหยุดสถานศึกษาชั่วคราวนั้น ยังคงสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนต่อไปแต่อาจใช้แนวทางอื่น เช่น ทางออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้บริหารสถานศึกษาควรปฏิบัติตามแนวทางตามสถานพยาบาลในเรื่องสามารถให้นักเรียนหรือบุคลากรสามารถกลับมายังสถานศึกษาได้เมื่อใด

คำแนะนำในการให้วัคซีนแก่เด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19

ถึงแม้จะมีการระบาดของโรค COVID-19 แต่การได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ควรยังต้องดำเนินต่อไป เนื่องจากหากเราหย่อนมาตรการ การให้วัคซีนนั้นอาจมีการระบาดของโรคอื่น ๆ เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฯลฯ ตามมาภายหลังซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน และจะทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย เช่น เพิ่มอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในชุมชน สังคมได้ ขณะที่ปัจจุบันโลกยังคงต้องเผชิญต่อสู้กับปัญหาการระบาดโรค COVID-19 อยู่แล้ว โดยทางปฏิบัติสามารถให้วัคซีนหลายเข็มในวันเดียวกันซึ่งมีความปลอดภัยและได้ผลดี และพยายามจัดระบบบริการการให้วัคซีนให้มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารกแรกเกิด เด็กเล็กที่ต้องให้วัคซีน primary series วัคซีนหลังสัมผัสโรค วัคซีนป้องกันเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนนิวโมค็อกคัสโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง วัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ควรงดการให้วัคซีนแบบกลุ่มก้อน

วัคซีนที่ควรต้องฉีดตรงตามกำหนดได้แก่

วัคซีนสำหรับทารกแรกเกิด ได้แก่ วัคซีนบีซีจีและวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเข็มแรกเกิด ควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน

วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรคอีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นต้น

วัคซีนที่เลื่อนออกได้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์

สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2-2 ½ ปี เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกันโรคที่พบได้และมีอาการรุนแรงในเด็กเล็ก การไม่ฉีดวัคซีนจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

Primary series Vaccination มีดังต่อไปนี้

HBV 3 เข็มแรก สำหรับทารกแรกเกิด 1-2 เดือนและ 6 เดือน
สำหรับทารกที่คลอดจากมารดาเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี และแรกเกิดไม่ได้รับ HBIG ไม่ควรเลื่อนวัคซีนเข็มที่ 2 ตอนอายุ 1 เดือน

วัคซีน DTP-HBV-Hib 3 เข็มแรก สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน

วัคซีนโปลิโอทั้งชนิดหยอดและฉีด (OPV, IPV) สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน

วัคซีนโรต้า สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ (6 เฉพาะ RotateqTM ) เดือน

Pneumococcal conjugate vaccine (PCV) สำหรับเด็กอายุ 2, 4, (+6 เดือน)

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (live) เข็มแรกสำหรับเด็กอายุ 9-12 เดือนและเข็มที่สองที่อายุ 2-2 ½ ปี

MMR เข็มแรกสำหรับเด็กอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองอายุ 1 ½ -2 ½ ปี โดยเฉพาะเข็มแรกไม่ควรฉีดช้าเกินไป เพราะโรคหัดยังระบาดในประเทศไทยและมีอัตราการเสียชีวิตสูงในเด็กเล็ก

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในปีแรกที่ฉีดให้ 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์

วัคซีนที่เลื่อนออกได้ 2-4 สัปดาห์

วัคซีนสำหรับเด็กที่เป็นเข็มกระตุ้นที่ไม่ใช่ primary series มีดังต่อไปนี้

วัคซีน DTP และ OPV ครั้งที่ 4 และ 5 ตอนอายุ 1 ½ ปี และ 4 ปี

วัคซีน PCV ครั้งที่ 3 หรือ 4 ที่เป็นเข็มกระตุ้นตอนอายุ 12-15 เดือน

วัคซีนไวรัสตับอักสบเอ สำหรับชนิดเชื้อไม่มีชีวิต เข็มที่ 2 สามารถให้ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน ชนิดเชื้อมีชีวิตฉีดเข็มเดียวได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือนขึ้นไป

วัคซีนอีสุกอีใส เข็มแรกสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ  1 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้ที่อายุ 12-18 เดือนเข็มที่ 2 สามารถให้ที่อายุ 2-4 ปี โดยห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

วัคซีนที่เลื่อนออกไปได้มากกว่า  1 เดือนหรือรอจนสถานการณ์การระบาดสงบลง

ได้แก่วัคซีนที่ฉีดให้ในเด็กโตหรือวัยรุ่น

วัคซีน HPV

วัคซีน TdaP/Tdap ที่เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 11-12 ปี

บทสรุป

โรค COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่และเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในวงกว้างทั่วโลก อย่างไรก็ตามต้องรักษามาตรการที่สำคัญคือ Social distancing และพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเช่น การล้างมือ ฯลฯ และส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมออกกำลังกายเพราะนอกจากจะกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็กก่อนวัยเรียนแล้วยังส่งเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรงอีกด้วย สถานศึกษาควรติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าโรค COVID-19 มักมีอาการไม่รุนแรงในเด็กแต่ก็เริ่มมีรายงานการเกิดกลุ่มอาการ multisystemic inflammatory syndrome ในเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ สอนและรับฟังความกังวลของเด็ก ที่สำคัญไม่ควรเว้นการรับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยงและวัคซีนช่วงแรกของชีวิต

เอกสารอ้างอิง

  1. พญ.ปิยนันท์ โฆษิดาพันธุ์, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. การดูแลและปฏิบัติตัวในเด็กช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19. หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบในเด็ก โดย พญ. พิชญา สถิตพัฒนพันธ์ กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ   รู้จักโรคปอดอักเสบ ปอดบวม / ปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ เนื้อปอด หลอดลมฝอย อาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ได้แก่ หายใจแรง หายใจเร็ว หายใจซี่โครงบาน อกบุ๋ม หายใจปีกจมูกบาน กินได้น้อยลง ซึม หลับเยอะกว่าปกติ เหนื่อย แน่นหน้าอก   ไข้หวัด (Common Cold) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน อาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย   การตรวจที่โรงพยาบาล ซักประวัติร่างกาย วัดไข้ วัดอัตราการหายใจ วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ฟังเสียงปอด NasoPharyngeal Swab หาเชื้อไวรัสเจาะจงเมื่อมีการระบาด ส่งตรวจเพิ่มเติม ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด   การรักษา […]

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงที่มีขน

สัตว์เลี้ยงที่มีขน สัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น แมว สุนัข กระต่าย หนูตะเภา หนูแฮมสเตอร์ เป็นต้น  มีสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากรังแค ขน หรือสิ่งขับถ่ายของสัตว์ สารก่อภูมิแพ้จากแมวและสุนัขมีขนาดเล็ก ทำให้ลอยอยู่ในอากาศได้นาน ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้หลังเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแมวและสุนัข แม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสโดยตรง สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้มีลักษณะเหนียว จึงสามารถติดตามพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ เบาะผ้า ผ้าม่าน ที่นอน และเสื้อผ้าได้ง่าย   การควบคุมและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากขน รังแคสัตว์ หากมีการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์ ควรงดเลี้ยงสัตว์ หรือนำสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน ในกรณีที่ต้องเลี้ยงไว้ภายในบ้าน ควรอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ทำความสะอาดพรม และเฟอร์นิเจอร์ที่เก็บฝุ่นให้สะอาด เพราะเป็นแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ ใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดพิเศษแบบ HEPA fitter จะช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ จากสัตว์เลี้ยงที่มีขนได้

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

อาการคัดจมูกและมีน้ำมูกมาก จะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้และเป็นโรคโพรงไซนัสอักเสบ อาการดังกล่าวสามารถที่จะรักษาได้ โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ  น้ำเกลือที่ผ่านเข้าไปในจมูกจะชะล้างน้ำมูก หนอง และสารที่ไม่ต้องการออกจากโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นและหายจากโรคได้เร็วขึ้น           วิธีการ เตรียมน้ำเกลือโดยใช้น้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาดสำหรับดื่มปริมาณ 500 ซีซี ใส่เกลือสะอาดประมาณ 1 ช้อนชา เขย่าผสมเข้ากันให้หรือ ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 9% หรือน้ำเกลือของสำหรับล้างจมูก ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยา เทน้ำเกลือที่ผสมแล้วลงในแก้วสะอาดแล้วใช้กระบอกฉีดยาขนาด 10-20 ซีซี ดูดน้ำเกลือเข้าไปให้เต็ม ยืนใกล้อ่างน้ำ ก้มหน้าเล็กน้อยสอดกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก พ่นน้ำเกลือเข้าในจมูกขณะที่กลั้นหายใจ น้ำเกลือจะถูกพ่นเข้าไปสู่โพรงจมูกแล้วไหลออกมาข้างเดียวกัน หรือออกมาจากรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรืออาจจะไหลลงคอ บางครั้งอาจจะมีหนองไหลออกมาด้วย ทำทั้ง 2 ข้างล้างจนกว่าไม่มีน้ำมูกเหลือค้างในจมูกอาจจะแสบจมูกเล็กน้อย   หมายเหตุ หลังจากที่ล้างจมูกแล้ว ผู้ป่วยอาจจะจาม และมีน้ำมูกไหลออกมาอีกได้ ให้สั่งน้ำมูกให้หมด (หรือล้างจมูกอีกครั้งหนึ่ง) แล้วพ่นยา พ่นจมูก ตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรชะล้างจมูกในช่วงที่จมูกมีเลือดออกได้ง่าย หรือในกรณีที่แพทย์ไม่แนะนำให้ล้างจมูก

ละอองเกสรจากหญ้าต้นไม้ และ วัชพืช

ละอองเกสรจากหญ้าต้นไม้ และ วัชพืช สารก่อภูมิแพ้จากละอองเกสรจากหญ้า ต้นไม้ และวัชพืชสามารถก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด โรคเยื่อจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งละอองเกสรเหล่านี้จะมีอนุภาคขนาดเล็ก สามารถปลิวได้ใกลหลายกิโลเมตร ทำให้เกิดอาการในผู้ที่แพ้ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ปลูกต้นไม้ หรือหญ้าไว้ในบ้านก็ตาม โดยชนิดและปริมาณของละอองเกสรจะแตกต่างกันตามฤดูกาลและภูมิประเทศ   ละอองเกสรพืชที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย ได้แก่ เกสรหญ้าแพรก (Bermuda grass) เกสรหญ้าพง (Johnson grass) เกสรวัชพืช เช่น ผักโขม (Careless weed) สปอร์ของเฟิร์นต่างๆ เกสรพืชยืนต้น เช่น กระดินณรงค์ (Acacia) กระถิ่นณรงค์ (Acacia)   การควบคุมและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากละอองเกสร ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำสระผม เมื่อสัมผัสหรือกลับจากบริเวณที่มีละอองเกสรหญ้า วัชพืช และต้นไม้ ควรปิดประตูหน้าต่าง ในช่วงฤดูที่มีการกระจายของละอองเกสรโดยเฉพาะเดือนกันยายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี เพราะจะมีการกระจายของละอองเกสร มากในประเทศไทย การติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศระบบ HEPA filter อาจช่วย ลดสารก่อภูมิแพ้จากละอองเกสรได้ […]