การรักษาไมเกรนด้วยยาสมุนไพร

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

ไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
คือ อาการปวดศีรษะโดยมักปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ หรือบางครั้งอาจปวดศีรษะทั้งสองข้างพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก
ผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย และพบในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง

ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรน

  1. มักจะปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจร
  2. อาการปวดมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
  3. ขณะที่ปวดศีรษะ มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย
  4. ระยะเวลาปวดอาจนานหลายชั่วโมง และมักไม่เกินหนึ่งวัน
  5. ในบางรายจะมีอาการเตือนนำมาก่อนหลายนาที เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกระพริบ
  6. อาการปวดมักกำเริบไม่เป็นเวลา อาจปวดขึ้นมา กลางดึก หรือปวดตอนเช้าหลังตื่นนอน

สาเหตุการเกิดโรค

สาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเป็นผลจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง
ที่มีผลกระทบต่อการสื่อกระแสประสาท ระดับสารเคมีในสมอง และความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง
ทำให้ผู้ป่วยรับความรู้สึกและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย และจากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ปัจจัยกระตุ้นอาการ

ปัจจัยกระตุ้นอาการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง(ร้อนหรือเย็นเกินไป) การอยู่ท่ามกลางแสงแดด
เป็นเวลานาน กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ความเครียดจากการทำงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย
ซึ่งมักพบในเพศหญิงช่วงที่มีประจำเดือน และการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดจะกระตุ้นอาการปวดไมเกรนให้รุนแรงมากขึ้น

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรน ได้แก่

  1. การบรรเทาอาการปวดศีรษะที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น การประคบเย็น การประคบร้อน การนวดกดจุด
    และการนอนหลับพักผ่อน เมื่อร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอาการปวดศีรษะก็จะค่อยๆลดลง
  2. การป้องกันไม่ให้เกิด หรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ เช่น การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
    และการรับประทานยาป้องกันไมเกรน เมื่อมีความถี่ของอาการปวดศีรษะสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งขึ้นไป และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

แนวคิดทางการแพทย์แผนไทยจะเทียบเคียงโรคไมเกรนกับโรคลมปะกัง

ซึ่งโรคลมปะกัง(ลมตะกังหรือสันนิบาตลมปะกัง) หมายถึง โรคลมชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมาก อาจปวดข้างเดียวหรือปวดสองข้างก็ได้ บางตำราว่ามักเป็นเวลาเช้า ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่นร่วม เช่น ตาพร่า วิงเวียน อาเจียน ซึ่งมีความสอดคล้องกับลักษณะอาการของโรคไมเกรนทางแผนปัจจุบัน

การรักษาโรคลมปะกังตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

เริ่มจากแพทย์แผนไทยจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายทางการแพทย์แผนไทย จับชีพจรบริเวณข้อมือ เพื่อให้ทราบว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุชนิดใด
ในร่างกาย และซักประวัติว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรค เช่น การทำงานหนัก ภาวะความเครียดสะสม เพื่อหาแนวทางในการรักษาโดยการปรับพฤติกรรมที่ก่อโรค และปรับสมดุลให้ธาตุในร่างกายผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาวะปกติ

กลไกการเกิดโรคลมปะกังทางการแพทย์แผนไทย

เกิดขึ้นจากธาตุไฟและธาตุลมที่ผิดปกติ กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ อาการจากความผิดปกติของธาตุไฟ ทำให้ดวงตาร้อน สู้แสงไม่ได้ ชีพจรเต้นแรง ตัวร้อนผิดปกติ และอาการจากความผิดปกติของธาตุลม ทำให้คลื่นไส้ พะอืดพะอม ใจสั่น เสียดชายโครงปวดหัวตุบๆ มึนหัว หรือมีอาหารหูอื้อ จากการติดขัดของลมอุทธังคมาวาตา(ลมขึ้นเบื้องสูงที่พัดจากปลายเท้าขึ้นไปศีรษะ) ส่งผลให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก

หลักการรักษาทางการแพทย์แผนไทยจึงใช้ตำรับยาหอม

เพื่อช่วยในการกระจายเลือดลม ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งตำรับยาหอม
มีทั้งรสสุขุมร้อน และรสสุขุมหอม จึงมีสรรพคุณเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ตำรับยาหอมรสสุขุมร้อน ได้แก่ ยาหอมนวโกฐและยาหอมอินทจักร์ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
    ของสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับ พบว่ามีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร
    และระบบประสาทส่วนกลาง ดังนี้

    • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์
      เพิ่มความดันช่วงหัวใจบีบ (systolic) ได้มากและนานกว่า ตำรับยาหอมอินทจักร์ สารสกัดทั้งสองตำรับมีผลต่อความดันช่วงหัวใจคลาย (diastolic) ได้ใกล้เคียงกัน และมีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจเล็กน้อยในช่วงเวลา 45-90 นาที สารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองมีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองหนู โดยเป็นผล
      มาจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กของสมอง มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น จึงช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและภาวะเป็นลมหมดสติ
    • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด และมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ ดังนั้นยาหอมนวโกฐจึงช่วยลดอาการปวดเกร็งของลำไส้ได้ จึงช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอมได้ดี
    • ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ เนื่องจากสารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลอง ในการทดสอบโดยวิธี Locomoter activity test ส่วนสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว และสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ทำให้ระยะเวลา
      การออกฤทธิ์ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น
  2. ตำรับยาหอมรสสุขุมหอม ได้แก่ ยาหอมเทพจิตรและยาหอมทิพโอสถ ซึ่งมีแนวทางการใช้
    ทางการแพทย์แผนไทยที่ต่างกัน โดยยาหอมเทพจิตรมีตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงจิตใจ
    ให้ชุ่มชื่น จึงเหมาะสำหรับการใช้ลดความเครียด ลดความวิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น สอดคล้องกับรายงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ
    ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจให้สดชื่นหลังการนวดอโรมา และในตำรับยังมีผิวส้ม
    เป็นส่วนประกอบ จึงมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ ซึ่งการใช้น้ำมันผิวส้มนวดอโรมา ก็ช่วยทำให้คลายกังวลและสงบระงับได้เช่นกัน  
              ส่วนยาหอมทิพโอสถจะมีสรรพคุณเด่นด้านการบำรุงกำลัง บำรุงเลือด    เหมาะสำรับสตรีที่มีอาการหงุดหงิดโกรธง่ายและปวดศีรษะไมเกรนในช่วงก่อนมีรอบเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของ ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนมีรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีเกสรดอกไม้เป็นส่วนผสมจะช่วยลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวและทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็นจึงไม่กระทบต่อการมีรอบเดือน

ปัจจุบันนี้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานที่เร่งรีบและมีความแข่งขันสูง ทำให้แนวโน้มการเกิดโรคยอดฮิตอย่างไมเกรนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อพิจารณาโรคไมเกรนในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ก็จะเห็นแนวคิดที่สอดคล้องกันบางประการ เช่น กลไกการเกิดโรคที่ถูกกระตุ้นจากความเครียด ลักษณะอาการปวด และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด

ดังนั้นการประยุกต์ใช้แนวทางการรักษาร่วมกันจึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เนื่องจากความเจ็บป่วย
ไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว หากเรารักษาแค่ตามอาการโดยไม่หาสาเหตุปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องย่อมทำให้โรค
ไม่หายขาด การรักษาแบบผสมผสาน (Integrative Medicine) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. 1. รังสรรค์ ชัยเสวิกุล. ไมเกรน. บทความสุขภาพจากเว็บไซต์ SIRIRAJ ONLINE.

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26, 2563,

จาก https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=105

  1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.

คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26, 2563,

จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/103/จะเลือกใช้ยาหอมอย่างไรจึงจะดี/

  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ยาหอม มรดกทางภูมิปัญญา ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์.

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล.  สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26,2563,

จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/283/ยาหอม/

  1. การแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกเขตสุขภาพที่3.(2561).
    คู่มือแนวทางเวชปฏิบัติ (44). สืบค้นเมื่อ มีนาคม 26,2563,
    จาก http://www.ppho.go.th/webppho/dl_strat/F20181018140227.pdf
  2. มูลนิธิฟื้”นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม.(2552). ตำราการแพทย์ไทยเดิมแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์เล่มที่ 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์
  3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.(2556).พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน(พิมพ์ครั้งที่3).กรุงเทพฯ:สำนักกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
    ในพระบรมราชูปถัมภ์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID โดย พท.ป. วรรณดี ชิตเจริญธรรม พจ. ธีรวุฒิ ชาญศิริเจริญกุล และพจ. ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์ กลุ่มอาการ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 กล่าวไว้ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด (COVID – 2019) อาการลองโควิดโดยส่วนใหญ่เริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน มีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ระยะเวลาของอาการส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน และกลุ่มอาการมีความหลากหลายและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต โดยมักพบมีอาการภายหลังการติดเชื้อ 4-12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และ/หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ลักษณะอาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ […]

การดำรงชีวิตด้วยหลักธรรมานามัย

หลักธรรมานามัย หมายถึงอะไร ประกอบด้วย 2 คำ คือ คำว่า “ธรรมะ” หมายถึง ธรรมชาติ และ “อนามัย” หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี เมื่อนำมารวมกัน จึงมีความหมายว่า การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วยวิถีทางธรรมชาติ (Healthy by natural method) ซึ่งจะให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ช่วยให้มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจสงบ ตระหนักรู้คิด สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ โดยเป็นแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ซึ่งเป็นหนึ่งบุคคลที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย แนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทยมองสุขภาวะแบบองค์รวม มองชีวิตคนเป็นนามรูป โดยรวมกายและใจเป็นเอกพจน์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องรวมกันเป็นหนึ่ง ไม่แยกออกจากกัน เพราะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้องอิงอาศัยกัน มี 3 ส่วน คือ กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัย ความหมายของสุขภาพในการแพทย์แผนไทย คือ สุขภาพกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติตามหลักพุทธธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทย […]

บรรเทาอาการเข่าเสื่อมด้วยการพอกยาสมุนไพร

สังคมไทยยุคปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้นอัตราการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุชาวไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าประเทศในแถบตะวันตก เนื่องจากการใช้งานในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่าไหว้พระ อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม             อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) จะค่อยๆเป็นทีละน้อย โดยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเวลาใช้งานข้อเข่า บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว มีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาใช้งานนานๆ และเมื่อเป็นมากจนกระดูกผิวข้อสึกจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และอาจพบว่า ข้อเข่าผิดรูปได้ ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด อาชีพหรือลักษณะงานที่ต้องเดินหรือยืนนานๆ เมื่อผู้ป่วยใช้งานข้อเข่ามากกว่าปกติเป็นระยะเวลานานจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดและทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่าได้เร็วขึ้น การเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เมื่อลุกออกจากเก้าอี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ทันที ต้องใช้เวลาเตรียมตัวสักครู่ถึงจะก้าวเดินได้ ส่วนในรายที่ข้อเข่าเสื่อมมากอาจทำให้เดินไม่ไหว การนั่งยองหรือการคุกเข่า จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และถ้าผู้ป่วยข้อเสื่อมมากมักจะนั่งยองหรือคุกเข่าไม่ได้เลย เพราะพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าถูกจำกัด ทำให้งอเข่าได้ไม่สุดหรือเหยียดเข่าไม่ได้ สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนในข้อเข่าทำให้กระดูกข้อเข่าชิดกันเกินไป โดยสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อน(Articular cartilage) ที่คลุมผิวข้อนิ่มกว่าปกติ หรือ ผิวข้อแตกเป็นร่อง และอาจมีกระดูกงอกบริเวณขอบกระดูก ทำให้ความสามารถในการยืดหยุ่นและการควบคุมปลายประสาทเสียไป หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆที่นำไปสู่การเกิดข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย ได้แก่ อายุและเพศ โดยผู้ที่สูงอายุจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว และผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะมีความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าเพศชาย การใช้ข้อผิดวิธี เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆการออกกำลังกายผิดวิธี การขึ้นลงบันไดมากเกิน การนั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิเป็นประจำส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น การได้รับบาดเจ็บ […]

อาหารสำหรับมารดาตั้งครรภ์ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

การตั้งครรภ์ทางการแพทย์แผนไทยนั้นได้มีการอธิบายไว้ในหัวข้อ “กุมารปฏิสนธิ” จากคัมภีร์ประถมจินดา กล่าวไว้ว่า “อันว่าสตรีทั้งหลายเมื่อจะตั้งอนุโลมปฏิสนธินั้น พร้อมด้วยบิดามารดากับธาตุทั้ง ๔ ก็บริบูรณ์พร้อม คือปถวีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ ระคนกันเข้า” คือเกิดเพราะโลหิตบิดามารดาผสมรวมกันโดยสมบูรณ์พร้อมด้วยธาตุทั้ง ๔ แพทย์สามารถสังเกตโดย ๑ เอ็นผ่านเส้นหน้าอกนั้นเขียว ๒ หัวนมนั้นคล้ำดำเข้า แล้วตั้งขึ้นเป็นเม็ดครอบหัวนม ซึ่งคนท้องส่วนมากจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายในแต่ละเดือนที่ตั้งครรภ์แตกต่างกัน จึงสมควรกินอาหารที่เหมาะสมกับอาการเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุครรภ์และอาหารที่แนะนำ เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์แผนไทย เมื่อตั้งครรภ์ ๑๕ – ๓๐ วันจะแสดงอาการให้รู้ว่าตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว  คือจะมีเอ็นเขียวผ่านหน้าอก หัวนมนั้นคล้ำดำขึ้นและมีเม็ดรอบหัวนม แพทย์แผนปัจจุบัน ผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหญิงตั้งครรภ์จาก Estrogen กระตุ้นให้มีการสะสม Melanin pigment ในเนื้อเยื่อทำให้สีผิวบริเวณส่วนต่าง ๆ เช่นที่ลานนม อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และบริเวณเส้นกลางลำตัวจากลิ้นปี่ถึงหัวเหน่า (Linea nigra) กระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ต่อมน้ำนมและหัวนม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นและคัดตึง เดือนที่ ๑ […]