บอกลาสิงห์อมควัน ลด ละ เลิก บุหรี่ ด้วยสมุนไพรไทย

ความรู้แผนไทย   ลงวันที่

บุหรี่ ตัวการสาเหตุของปัญหาสุขภาพและยังส่งกระทบทางลบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ จัดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก การสูบบุหรี่หรือการสัมผัสควันบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรค เช่น โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด เป็นต้น จากรายงายขององค์การอนามัยโรค (World Health Organization, 2009) พบว่าหากไม่มีมาตราการดูแลและควบคุมที่เหมาะสมจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ถึง 8 ล้านคนในปี ค.ศ.2030 รวมทั้งจากรายงานสถิติการบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ.2561 ของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ.2560 ถึง 10.7ล้านคนและในช่วงปี พ.ศ.2547-2560 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง จากงานวิจัยต่าง ๆที่สนับสนุนพิษภัยของบุหรี่และสถานการณ์การทางด้านสุขภาพที่บุหรี่มีผลกระทบทำให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการกำหนดมาตราการและหาแนวทางในการป้องควบคุมนักสูบหน้าใหม่และลด เลิกการสูบบุหรี่ในผู้ที่ติดบุหรี่

การศึกษาวิจัยและทบทวนวรรณกรรม พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรืออิทธิพลที่มีผลต่อการสูบบุหรี่ของประชากรวัยผู้ใหญ่ (สุนิดา ปรีชาวงษ์, 2554) สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ปัจจัยด้านคุณลักษณะทางประชากร ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้
  2. ปัจจัยด้านการสูบบุหรี่ ได้แก่ อายุที่เริ่มสูบบุหรี่ ภาวะติดนิโคติน จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ระยะเวลาที่สูบบุหรี่มวนแรกหลังตื่นนอน จำนวนครั้งที่เคยพยายามเลิกสูบ และระยะเวลาที่เคยเลิกสูบบุหรี่
  3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางด้านสรีระ พบว่าการเสื่อมสมรรถภาพของปอดและดัชนีมวลกายมีความสัมพันธ์กับการเลิกบุหรี่ และจิตวิทยาสังคม พบว่าอิทธิพลทางบวก ได้แก่ ความพร้อมและความตั้งในที่จะเลิกบุหรี่ การรับรู้สมรรถนะแห่งตน อิทธิพลทางลบ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียด

เมื่อติดบุหรี่แล้วการจะเลิกมักทำได้ยาก เพราะสารนิโคตินจะดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วผู้สูบจึงรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลลงได้ในทันทีและมีผลระยะสั้นเท่านั้น เมื่อระดับนิโคตินลดลง หากต้องการความสบายจึงกลับมาสูบอีกจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ควรระมัดระวัง คืออาการถอนยาหรืออาการขาดนิโคติน ซึ่งจะเริ่มภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังการหยุดบุหรี่ โดยผู้สูบจะมีอาการดังนี้ คือ

อาการด้านอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ อยากยา ซึมเศร้า วิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย สมาธิลดลง นอนไม่หลับ

อาการด้านร่างกาย ได้แก่ หัวใจเต้นช้าลง อยากอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดศีรษะ ท้องผูก เหงื่อออก เป็นต้น

วิธีการสำหรับการเลิกบุหรี่นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น

  • วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเองโดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดอาการขาดนิโคตินและกลับไปสูบใหม่ภายใน 1 สัปดาห์
  • การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่หรือช่วงเวลาที่เคยสูบบุหรี่ประจำ รวมถึงหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ
  • การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมียา 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน กับยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน
  • การแพทย์ทางเลือก เช่น ยาสมุนไพร การนวดกดจุดสะท้อนเท้า หรือการฝังเข็มเพื่อช่วยลดอาการอยากและคลายความหงุดหงิด รวมถึงโภชนบำบัด

สำหรับการเลือกใช้ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ที่ได้รับความนิยมและมีการวิจัยอย่างแพร่หลายถึงประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ ได้แก่ สมุนไพรหญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob.) ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2555 ในกลุ่มยาพัฒนาจากสมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า หากใช้สมุนไพรหญ้า ดอกขาวติดต่อกันนาน 2 เดือน สามารถช่วยทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 60% และหากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย จะสามารถช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น และหลังการรักษาด้วยสมุนไพรหญ้าดอกขาวเป็นระยะเวลา 4 เดือน ผู้ติดบุหรี่มีอัตราการเลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 70% โดยเหตุผลสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ คือ ชาลิ้น กินอาหารไม่อร่อย ไม่รู้สึกอยากบุหรี่ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ เมื่อสูบแล้วรู้สึกอยากอาเจียน แต่ในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้จากการใช้หญ้าดอกขาวให้เหตุผลว่า การดื่มชาสมุนไพรชนิดนี้ก็เหมือนกับการดื่มน้ำธรรมดา โดยไม่มีอาการใด ๆข้อมูลฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าดอกขาวที่มีส่วนช่วยลดความอยากบุหรี่ ได้แก่สารสำคัญที่ต้น ใบ และรากของหญ้าดอกขาว คือ Sodium nitrate ทำให้ลิ้นชา ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ ยังช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้นอีกด้วย เลือดจะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลงอย่างชัดเจน และที่สำคัญผลข้างเคียงของการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีนี้ก็มีน้อยมาก (เช่น มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย สมาธิแปรปรวน) และการศึกษาด้านความปลอดภัยของผู้ที่รับประทานหญ้าดอกขาวในรูปแบบยาลดความอยากบุหรี่พบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง แต่ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยยาชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ปากแห้งและคอแห้งได้ นอกจากนั้น สมุนไพรชนิดนี้ยังมีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไตวายควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับประทานเสมอ

วิธีการใช้ที่แนะนำ ชงเป็นชาดื่มครั้งละ 2 กรัม ผสมกับน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง หรือเคี้ยวหรืออม ก้าน ใบ ขณะที่มีอาการอยากบุหรี่

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่น ๆที่แนะนำจากคู่มือทางเลือกเพื่อลด ละ เลิกบุหรี่ โดย สำนักงานสนับสนุนกองทุนสุขภาพ (สสส.) เช่น

  1. มะนาว ผลไม้เปรี้ยวจัด มีวิตามินซีสูง เปลือกมีรสเผื่อน ขม ซึ่งวิตามินซีในมะนาวจะช่วยเปลี่ยนรสชาติ ของบุหรี่ให้เฝื่อน ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่และลดอาการอยากนิโคตินได้ อีกทั้งยังช่วยขจัดคราบบุหรี่ได้อีกด้วย

วิธีการใช้ หั่นมะนาวติดเปลือกเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ เมื่อมีความรู้สึกอยากบุหรี่ให้กินมะนาวแทน โดยอมแล้วค่อย ๆ ดูดความเปรี้ยว จากนั้นเคียวเปลือกอย่างช้า ๆ 3-5 นาที

  1. กานพลู เนื่องจากกานพลูมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ การอมดอกกานพลูจะทำให้รู้สึกชาปากเล็กน้อย และน้ำมันหอมระเหยของกานพลูยังช่วยทำให้ประสาทสลบ นอนหลับสบาย ช่วยระงับและดับกลิ่นปากอีกด้วย

วิธีการใช้ ใช้ดอกตูมแห้งประมาณ 3 ดอก ทำให้ปากชาแก้ความอยาก และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น และช่วยลดระงับกลิ่นปากลงได้

  1. มะขามป้อมเนื่องจากปริมาณของวิตามินซีและแทนนินสูงของผลมะขามป้อม และรสเปรี้ยว ฝาด ดังนั้นจึงมีฤทธิ์ทำให้รสของบุหรี่เปลี่ยนไปและรู้สึกไม่อยากบุหรี่ อีกทั้งช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นในผู้สูบบุหรี่ที่มีภาวะสูญเสียวิตามินในร่างกาย

วิธีการใช้ กินผลมะขามป้อมสด เคี้ยวและอม ผลสดคั้นดื่มน้ำ หรือผลแห้งชงเป็นชาดื่ม

  1. โปร่งฟ้า เนื่องจากใบโปร่งฟ้ามีสารคาร์บาโซลที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือด และช่วยในการเลิกบุหรี่ เพราะใบมีรสชาติหวานเมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกพะอืดพะอม อยากจะอาเจียน และไม่อยากสูบบุหรี่อีก

วิธีการใช้ นำใบโปร่งฟ้าสด 1-2 ใบ เคี้ยวเวลาเกิดอาการอยากสูบบุหรี่

  1. รางจืดสมุนไพรรางจืดถูกนำมาใช้สำหรับล้างพิษในร่างกายจากการได้รับสารเคมี ซึ่งพบว่าสารสกัดน้ำจากใบรางจืดจะช่วยล้างสารพิษนิโคตินในตับ โดยใช้ได้ทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก หรือเถา

วิธีการใช้ เลือกใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โขลกให้แหลกผสมน้ำซาวข้า (เพราะน้ำซาวข้าวจะช่วยให้ฤทธิ์ยาแล่นเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว) คั้นเอาแต่น้ำดื่ม ซึ่งจะมีความเข้มข้นสูง หรือใช้ใบสด 4-5 ใบ ฉีก และชงในน้ำร้อนดื่ม

ข้อควรระวัง การกินรางจืดไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เพราะมีผลต่อตับ และควรดื่มน้ำมะพร้าว เพื่อช่วยรักษาวิตามินในร่างกาย

ที่มา

  1. สุนิษดา ปรีชาวงษ์. โครงการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ เรื่องปัจจัยกำหนดพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ [อินเทอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเเมื่อ25 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก.

http://www.trc.or.th/trcresearch/pdffiles/ART%2014/cat14%20(25).pdf

  1. ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล. รายงานสถิติการบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ. กรุงเทพมหานคร, 2560: 1-2
  2. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. หญ้าดอกขาว หมอข้างกาย ทางสบายเลิกบุหรี่ [อินเทอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 25 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/news_
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.หญ้าดอกขาวกับการลดการอยากบุหรี่ [อินเทอร์เน็ต].2553 [เข้าถึงเมื่อ 25 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก.

www.pharmacy.cmu.ac.th/dic/newsletter/newpdf/newsletter10_6/smokingherb.pdf.

  1. ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ทางเลือกเพื่อลด ละ เลิก บุหรี่ [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ25 มี.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก.

http://resource.thaihealth.or.th/media/thaihealth/16195

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกกับการฟื้นฟูรักษาอาการ Long COVID โดย พท.ป. วรรณดี ชิตเจริญธรรม พจ. ธีรวุฒิ ชาญศิริเจริญกุล และพจ. ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์ กลุ่มอาการ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 กล่าวไว้ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด (COVID – 2019) อาการลองโควิดโดยส่วนใหญ่เริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด 19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน มีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ระยะเวลาของอาการส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน และกลุ่มอาการมีความหลากหลายและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต โดยมักพบมีอาการภายหลังการติดเชื้อ 4-12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และ/หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ลักษณะอาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ […]

การดำรงชีวิตด้วยหลักธรรมานามัย

หลักธรรมานามัย หมายถึงอะไร ประกอบด้วย 2 คำ คือ คำว่า “ธรรมะ” หมายถึง ธรรมชาติ และ “อนามัย” หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี เมื่อนำมารวมกัน จึงมีความหมายว่า การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วยวิถีทางธรรมชาติ (Healthy by natural method) ซึ่งจะให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ช่วยให้มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจสงบ ตระหนักรู้คิด สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้ โดยเป็นแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ซึ่งเป็นหนึ่งบุคคลที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย แนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทยมองสุขภาวะแบบองค์รวม มองชีวิตคนเป็นนามรูป โดยรวมกายและใจเป็นเอกพจน์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องรวมกันเป็นหนึ่ง ไม่แยกออกจากกัน เพราะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้องอิงอาศัยกัน มี 3 ส่วน คือ กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัย ความหมายของสุขภาพในการแพทย์แผนไทย คือ สุขภาพกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติตามหลักพุทธธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของหลักธรรมานามัยในการแพทย์แผนไทย […]

บรรเทาอาการเข่าเสื่อมด้วยการพอกยาสมุนไพร

สังคมไทยยุคปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้นอัตราการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุชาวไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าประเทศในแถบตะวันตก เนื่องจากการใช้งานในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่าไหว้พระ อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม             อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) จะค่อยๆเป็นทีละน้อย โดยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเวลาใช้งานข้อเข่า บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว มีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาใช้งานนานๆ และเมื่อเป็นมากจนกระดูกผิวข้อสึกจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และอาจพบว่า ข้อเข่าผิดรูปได้ ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด อาชีพหรือลักษณะงานที่ต้องเดินหรือยืนนานๆ เมื่อผู้ป่วยใช้งานข้อเข่ามากกว่าปกติเป็นระยะเวลานานจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดและทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่าได้เร็วขึ้น การเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เมื่อลุกออกจากเก้าอี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ทันที ต้องใช้เวลาเตรียมตัวสักครู่ถึงจะก้าวเดินได้ ส่วนในรายที่ข้อเข่าเสื่อมมากอาจทำให้เดินไม่ไหว การนั่งยองหรือการคุกเข่า จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และถ้าผู้ป่วยข้อเสื่อมมากมักจะนั่งยองหรือคุกเข่าไม่ได้เลย เพราะพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าถูกจำกัด ทำให้งอเข่าได้ไม่สุดหรือเหยียดเข่าไม่ได้ สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนในข้อเข่าทำให้กระดูกข้อเข่าชิดกันเกินไป โดยสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อน(Articular cartilage) ที่คลุมผิวข้อนิ่มกว่าปกติ หรือ ผิวข้อแตกเป็นร่อง และอาจมีกระดูกงอกบริเวณขอบกระดูก ทำให้ความสามารถในการยืดหยุ่นและการควบคุมปลายประสาทเสียไป หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆที่นำไปสู่การเกิดข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย ได้แก่ อายุและเพศ โดยผู้ที่สูงอายุจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว และผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะมีความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าเพศชาย การใช้ข้อผิดวิธี เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆการออกกำลังกายผิดวิธี การขึ้นลงบันไดมากเกิน การนั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิเป็นประจำส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น การได้รับบาดเจ็บ […]

อาหารสำหรับมารดาตั้งครรภ์ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

การตั้งครรภ์ทางการแพทย์แผนไทยนั้นได้มีการอธิบายไว้ในหัวข้อ “กุมารปฏิสนธิ” จากคัมภีร์ประถมจินดา กล่าวไว้ว่า “อันว่าสตรีทั้งหลายเมื่อจะตั้งอนุโลมปฏิสนธินั้น พร้อมด้วยบิดามารดากับธาตุทั้ง ๔ ก็บริบูรณ์พร้อม คือปถวีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ ระคนกันเข้า” คือเกิดเพราะโลหิตบิดามารดาผสมรวมกันโดยสมบูรณ์พร้อมด้วยธาตุทั้ง ๔ แพทย์สามารถสังเกตโดย ๑ เอ็นผ่านเส้นหน้าอกนั้นเขียว ๒ หัวนมนั้นคล้ำดำเข้า แล้วตั้งขึ้นเป็นเม็ดครอบหัวนม ซึ่งคนท้องส่วนมากจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายในแต่ละเดือนที่ตั้งครรภ์แตกต่างกัน จึงสมควรกินอาหารที่เหมาะสมกับอาการเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุครรภ์และอาหารที่แนะนำ เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์แผนไทย เมื่อตั้งครรภ์ ๑๕ – ๓๐ วันจะแสดงอาการให้รู้ว่าตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว  คือจะมีเอ็นเขียวผ่านหน้าอก หัวนมนั้นคล้ำดำขึ้นและมีเม็ดรอบหัวนม แพทย์แผนปัจจุบัน ผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหญิงตั้งครรภ์จาก Estrogen กระตุ้นให้มีการสะสม Melanin pigment ในเนื้อเยื่อทำให้สีผิวบริเวณส่วนต่าง ๆ เช่นที่ลานนม อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และบริเวณเส้นกลางลำตัวจากลิ้นปี่ถึงหัวเหน่า (Linea nigra) กระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ต่อมน้ำนมและหัวนม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นและคัดตึง เดือนที่ ๑ […]