ฝังเข็มเจ็บมากไหม ? อันตรายหรือไม่ ?

ความรู้ทั่วไป, ความรู้แผนจีน   ลงวันที่

ฝังเข็มเจ็บมากไหม ? อันตรายหรือไม่ ?

โดย พจ.ลดาวรรณ โชติกุลวรพฤกษ์

การฝังเข็ม(ภาษาจีน: 針灸; ภาษาอังกฤษ: Acupuncture) เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่ง โดยการฝังเข็มเป็นการใช้เข็มปักลงไปตามจุดต่างๆบนร่างกาย ตามจุดสำคัญๆที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่า มีความสำคัญและสัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆในร่างกาย จุดฝังเข็มบนร่างกายมนุษย์มีอยู่หลายร้อยจุด แต่จุดที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในเอกสารตำราแพทย์จีนโบราณและในเอกสารอ้างอิงขององค์การอนามัยโลก(WHO)มีอยู่จำนวน 349 จุด บนเส้นลมปราณ (meridian) หลักๆ 12 เส้นหลัก และอีก 2 เส้นรอง ซึ่งแต่ละเส้นจะมีชื่อเรียกและหน้าที่อย่างชัดเจน

การฝังเข็มให้เกิดผลในการรักษาโรค ไม่ใช่เพียงแพทย์จีนปักเข็มไปตามร่างกายเท่านั้น แต่แพทย์จีนยังต้องมีเทคนิคหลายอย่างในขั้นตอนการฝังเข็ม การเลือกรักษากับแพทย์จีนที่มีความรู้เกี่ยวกับเข็มและอุปกรณ์การฝังเข็มเป็นอย่างดี ทั้งการเลือกใช้ประเภทของเข็ม ข้อระวัง วิธีการใช้ เทคนิคต่างๆในการกระทำต่อเข็มเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดี ตั้งแต่เริ่มการจับเข็ม การลงเข็ม การถอนเข็ม รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพปลอดภัยและปลอดเชื้อ

แพทย์จีนใช้เข็มอะไรฝังเข็มคนไข้

ปัจจุบันการฝังเข็มได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคควบคู่ไปกับการแพทย์แผนตะวันตก หลายครั้งมีคำถามว่า เข็มที่แพทย์จีนใช้ปักบนร่างกายของคนไข้ใช้เข็มอะไร? เหมือนเข็มฉีดยาไหม? ใหญ่ไหม? ปลอดภัยหรือเปล่า?  แล้วเจ็บหรือเปล่า?

รูปที่1 ลักษณะเข็มที่ใช้ในการฝังเข็ม

เข็มที่แพทย์จีนนิยมใช้แพร่หลายที่สุดคือ เข็มที่มีลักษณะกลม-บาง ปลายเข็มแหลมคม ความยาวอยู่ระหว่าง 13-75 มิลลิเมตร ทำจากโลหะสแตนเลส มีความคงทน-ทนทาน ยืดหยุ่นง่ายสามารถโค้งงอและคืนสภาพได้ดี ไม่หักหรือแตกเปราะง่าย และไม่เป็นสนิม และเนื่องจากเข็มมีความบางและแหลมคม เมื่อผ่านผิวหนังแทบจะไม่ทำให้เจ็บ เข็มที่แพทย์จีนนำมาใช้ในการรักษาจะต้องบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปลอดเชื้อจนกว่าจะใช้งาน ส่วนเข็มที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกทำลายทิ้งและไม่นำกลับมาใช้ซ้ำอีก

ระดับความลึกในการฝังเข็ม

ในเชิงทฤษฎีความลึกที่เหมาะสมคือ ความลึกที่เข็มสามารถกระตุ้นความรู้สึกได้ชี่หรือเต๋อชี่โดยไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน ในทางคลินิกความลึกของการปักเข็มขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

– ตำแหน่งของจุดฝังเข็ม เช่น จุดบริเวณศีรษะและใบหน้า จะปักเข็มตื้นกว่าจุดตามร่างกาย

– รูปร่างของผู้ป่วย มีรูปร่างชั้นกล้ามเนื้อและไขมันมากกว่าโดยผู้ป่วยรูปร่างอ้วนใหญ่มักต้องปักเข็มให้ลึกกว่าผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง

– พยาธิสภาพของผู้ป่วย ผู้ที่อ่อนแอ อายุมากหรือเด็ก ควรปักเข็มตื้นกว่าผู้ที่แข็งแรง เป็นต้น

ความรู้สึกของคนไข้ระหว่างการฝังเข็มเป็นอย่างไร ?

“การได้ชี่”(ภาษาจีน:得气 DéQì หรือ(เต๋อชี่), ภาษาอังกฤษ:Arrival of Qi) หรือ ปฏิกิริยาต่อเข็ม (needling sensation) หมายถึง ความรู้สึกถึงการออกฤทธิ์ของเข็มเมื่อปักเข็มลงไปถึงจุด โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกหน่วงบริเวณรอบจุดที่ฝังเข็ม หรืออาจรู้สึกแล่นกระจายขึ้นหรือลงไปตามแนวเส้นลมปราณ ในขณะเดียวกันแพทย์จีนจะรู้สึกได้ถึงเข็มในมือตึงแน่นเหมือนถูกหน่วงเอาไว้ เหมือนดั่งคัมภีร์โบราณที่เปรียบเทียบไว้ว่า“รู้สึกหน่วงเหมือนปลากระตุกสายเบ็ด”

รูปที่2 ลักษณะการฝังเข็ม

โดยทั่วไปแล้วเมื่อปักเข็มไปถึงจุดฝังเข็มแล้วมักจะเกิดอาการได้ชี่หรือเต๋อชี่ในทันที หรือในกรณีที่ไม่รู้สึก แพทย์จีนจะกระตุ้นเข็มเพื่อให้เกิดการได้ชี่หรือเต๋อชี่แบบบำรุงหรือระบายต่อไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การกระตุ้นเข็มที่เหมาะสมไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการป่วยแต่ยังช่วยปรับสมดุลอวัยวะภายในได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องจากกระเพาะอาหารและลำไส้หดเกร็ง การฝังเข็มไม่เพียงคลายอาการหดเกร็งเพื่อบรรเทาปวดเท่านั้น ยังช่วยให้การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเป็นไปอย่างสมดุลอีกด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

คลินิกแพทย์แผนจีน

  • โทร 02 849 6600 ต่อ ต่อ 4018

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งว […]