ดื่มนมชื่นใจ ร่างกายแข็งแรง

ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

       

 วันที่ 1  มิถุนายน ของทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization หรือ FAO ) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อให้ผู้คนตระหนักและรณรงค์ในการบริโภคนมให้มากขึ้น ซึ่ง “นม” ถือเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างครบถ้วน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะแคลเซียม ซึ่งมีความสำคัญมากในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมจากการดื่มนมให้ร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่าการบริโภคแคลเซียมจากอาหารชนิดอื่น ๆ

เนื่องในวันดื่มนมโลก งานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวทางการเลือกซื้อและการเก็บรักษานมให้มีคุณภาพพร้อมดื่มตามอายุของนมแต่ละประเภทมาฝากผู้อ่านกันดังนี้

 

วิธีเลือกซื้อนม

  • กำหนดวัตถุประสงค์และความต้องการในการดื่มนมโดยเลือกรสชาติที่ชอบและอ่านฉลากโภชนาการ ได้แก่ พลังงานและสารอาหารที่มีอยู่ในบรรจุภัณฑ์
  • ตรวจสอบผลิตภัณฑ์นม โดยสังเกตข้อมูลบรรจุภัณฑ์ต้องมีครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ  ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น
  • ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด
  • เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์นมที่มีเครื่องหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • เลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่จำหน่ายแบบไม่เหมาะสมเช่น ตู้แช่หรือสถานที่เก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

ประเภทของนมจำแนกตามวิธีการเก็บรักษา

นมพาสเจอร์ไรส์ เป็นนมที่ผลิตโดยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค แต่ไม่สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย กระบวนการนี้จะใช้ความร้อนต่ำเพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพอาหารไว้ ได้แก่ กลิ่นและรส รวมถึงคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับนมโคสดมากที่สุด สามารถเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 7-10 นับจากวันที่บรรจุ ในกรณีดื่มไม่หมดและต้องการแบ่งเก็บไว้ ควรเทแบ่ง ไม่ดื่มจากภาชนะบรรจุโดยตรง เพราะจะทำให้นมบูดได้ง่าย

นมยูเอชที เป็นนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง แต่ใช้ระยะเวลาการฆ่าเชื้อที่สั้นมาก เพื่อไม่ให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไป กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้เกือบทั้งหมด สามารถเก็บได้นานถึง 6-9 เดือน ที่อุณหภูมิปกติ โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ควรเก็บในที่ร่ม ไม่ร้อนมากนัก และไม่ควรเก็บในสถานที่ที่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงเป็นเวลานาน

                นมสตอริไลซ์ เป็นนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อนสูง และเวลานาน สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเน่าเสีย จึงเก็บได้นานถึง 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ไม่ควรเก็บในสถานที่ที่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงเป็นเวลานาน

 

ประเภทของนมจำแนกตามปริมาณไขมันในนม

นมสด หรือนมครบส่วน หรือนมไขมันเต็ม คือ นมสดธรรมดาที่บรรจุในผลิตภัณฑ์ ข้างฉลากระบุว่าเป็นนมโค 100% โดยนมสด 1 ส่วน มีปริมาตร 240 มล. ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม และไขมัน 8 กรัม

นมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำ คือ นมที่สกัดแยกมันเนยออกเพียงบางส่วน ทำให้มีพลังงานและไขมันลดลง โดยนมพร่องมันเนย 1 ส่วน มีปริมาตร 240 มล. ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม และไขมัน 5 กรัม

นมขาดมันเนยหรือนมไร้ไขมัน คือ นมที่แยกมันเนยออกเกือบทั้งหมด โดยนมขาดมันเนย 1 ส่วน มีปริมาตร 240 มล. ให้พลังงาน 80-90 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม โปรตีน 8 กรัม และไขมัน 0-3 กรัม

นมข้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  • นมข้นจืด คือ นมผงขาดมันเนยละลายน้ำในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปริมาณน้ำที่มีในนมสดธรรมดาชนิดหนึ่ง ถ้าเติมน้ำมันปาล์มลงไปจะเรียกว่านมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน (ไม่ควรใช้กับเด็กทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะมีกรดไขมันจำเป็นและวิตามินบางชนิดต่ำกว่า) แต่ถ้าเติมไขมันเนยลงไปจะเรียกว่า นมข้นคืนรูปไม่หวาน
  • นมข้นหวาน คือ นมที่ระเหยเอาน้ำบางส่วนออก หรือละลายนมผงขาดมันเนยผสมกับไขมันเนยหรือไขมันปาล์ม แล้วเติมน้ำตาลลงไปประมาณ 45% ซึ่งนมชนิดนี้จะมีน้ำตาลในปริมาณสูงและมีโปรตีนน้อยกว่านมสดมาก จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กทารกหรือนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการเสริมคุณค่าทางอาหารเหมือนนมสดธรรมดา

 

สำหรับนมสดหรือนมครบส่วนนั้นเหมาะสำหรับวัยเด็กเพราะเป็นวัยที่อยู่ในช่วงวิ่งเล่นกับเพื่อนๆและกำลังเจริญเติบโต ร่างกายจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณไขมันในนม แต่ควรเลือกเป็นนมจืดที่ไม่ปรุงรสหรือเติมน้ำตาลเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดรสหวาน แต่สำหรับผู้สูงอายุและบุคลลกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน เป็นต้น ควรบริโภคนมพร่องมันเนย หรือเลือกนมขาดมันเนย เพื่อควบคุมปริมาณไขมันที่บริโภคเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงเรื่องระบบการย่อยอาหารของผู้สูงอายุ ซึ่งนมที่ถูกดึงไขมันออกไป มีผลทำให้เรื่องการย่อยการและดูดซึมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

จัดทำโดย: งานโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร 02-8496600 ต่อ 1084/1085

ขอบคุณข้อมูลจาก: พิจารณา สามนจิตติ,โครงการปศุสัตว์น้อยเตือนภัย ใส่ใจผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ เข้าถึงโดย :

https://pr.prd.go.th/phichit/ewt_news.php?nid=6722&filename=index.

ปัญจวรา บุญสร้างสมม, “ดื่มนมทุกวัน ดื่มได้ทุกวัย” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กระทรวงสาธารณสุข.

ศรีวรรณ ทองแพง, รายการอาหารแลกเปลี่ยน. ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

GJ E-Magazine เล่มที่ 27

GJ E-Magazine ฉบับที่ 27 (เดือนเมษายน 2567) “โรคปอดกับการสูบบุหรี่” คลิกที่นี่เพื่ออ่าน   ไฟล์ขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์ : คลิกที่นี่

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา) มะเร็งปอดคืออะไร มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น adenocarcinoma ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก   อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้นสำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ   สาเหตุของมะเร็งปอด การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน เป็นระยะเวลา 20 […]

GJ E-Magazine เล่มที่ 26

GJ E-Magazine ฉบับที่ 26 (เดือนมกราคม 2567) “โรคที่พบในเด็ก” คลิกที่นี่เพื่ออ่าน   ไฟล์ขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์ : คลิกที่นี่

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบในเด็ก โดย พญ. พิชญา สถิตพัฒนพันธ์ กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ   รู้จักโรคปอดอักเสบ ปอดบวม / ปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ เนื้อปอด หลอดลมฝอย อาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ได้แก่ หายใจแรง หายใจเร็ว หายใจซี่โครงบาน อกบุ๋ม หายใจปีกจมูกบาน กินได้น้อยลง ซึม หลับเยอะกว่าปกติ เหนื่อย แน่นหน้าอก   ไข้หวัด (Common Cold) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน อาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย   การตรวจที่โรงพยาบาล ซักประวัติร่างกาย วัดไข้ วัดอัตราการหายใจ วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ฟังเสียงปอด NasoPharyngeal Swab หาเชื้อไวรัสเจาะจงเมื่อมีการระบาด ส่งตรวจเพิ่มเติม ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด   การรักษา […]