วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

ความรู้ทั่วไป   ลงวันที่

1. โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยเกิดจากเชื้ออะไร
ตอบ ไข้เลือดออกที่ระบาดในไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3, DENV-4

2. ในประเทศไทยพบไข้เลือดออกในคนกลุ่มอายุเท่าใดบ่อยที่สุด
ตอบ โรคไข้เลือดออกพบได้ทุกกลุ่มอายุ ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ80 ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 5-34 ปี

3.ไข้เลือดออกรุนแรงเป็นอย่างไร
ตอบ ไข้เลือดออกรุนแรง (severe dengue) มีอาการดังต่อไปนี้
• อาเจียนไม่หยุด
• ปวดท้องรุนแรง (จากการที่มีน้ำคั่งผิดปกติ)
• หายใจเร็วจากการมีน้ำคั่งในเยื่อหุ้มปอด
• ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่าย หรือซึมมาก
• เลือดออกในอวัยวะต่างๆ รุนแรง เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
• การทำงานอวัยวะภายในร่างกายบกพร่อง เช่น ตับ ไต
• มีความผิดปกติในสมอง
• ช๊อก และอาจเสียชีวิตได้

4.ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้แล้วหรือยัง?
ตอบ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ เป็นวัคซีน CYD-TDV หรือ DENGVAXIA ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิด ที่อยู่ระหว่างการทดลองศึกษาวิจัย

5.CYD-TDV หรือ Denvaxia คืออะไร?
ตอบ CYD-TDV หรือ DENGVAXIA เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดแรกที่ได้รับการรับรอง โดยได้การรับรองครั้งแรกที่ประเทศเมกซิโกในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ให้ใช้ในกลุ่มคนที่มีอายุ 9-45 ปีในเขคที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เป็นวัคซีนขนิดมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ มีเชื้อไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคทั้ง 4 สายพันธุ์  กำหนดให้ฉีด 3 ครั้ง 0-6-12 เดือน ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ใน 13 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย

6.ใครควรได้รับการฉีดวัคซีน
ตอบ ทุกคนที่อายุ 9-45 ปี และอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และเป็นผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้

7.ข้อห้ามใช้ที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมีดังนี้
• ผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรงในส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในวัคซีน หรือมีการแพ้ในวัคซีนนี้ที่ได้รับครั้งแรก หรือแพ้วัคซีนชนิดอื่นที่มีส่วนประกอบเหมือนกัน
• มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อ HIV (เอดส์) หรือได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสเตียรอยด์ในขนาดสูง หรือ เคมีบำบัด)
• สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ อยู่ระหว่างให้นมบุตร
• ผู้ที่ มีไข้ระดับกลางจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดีแล้ว

8.หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มอายุ 9 – 45 ปี สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ ยังไม่สมควรได้รับวัคซีนนี้ เนื่องจากข้อมูลทางคลินิกที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ

9.ประสิทธิภาพของวัคซีน
ตอบ วัคซีน DENGVAXIA มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่อเชื้อไวรัสทั้ง4 สายพันธุ์
• สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65.6 %
• ลดความรุนแรงของโรค 93.2 %
• ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 80.8 %

10.ข้อแนะนำในหญิงตั้งครรภ์
ตอบ เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นชนิดตัวเป็น(live-attenuated vaccine)เหมือนวัคซีนทั่วไป จึงห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และขอแนะนำว่า สตรีที่ได้รับวัคซีนควรเว้นระยะก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน

11.หากผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อน ไม่ว่าจะมีแค่อาการไข้อ่อนๆหรือป่วยหนัก ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนได้อีกหรือไม่
ตอบ วัคซีน DENGVAXIA สามารถใช้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีจากทั้งสายพันธุ์ 1, 2, 3, และ 4 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 -45 ปี ที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดให้กับผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมาก่อนจะสูงกว่าและสามารถช่วยป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีสายพันธุ์อื่นๆได้ด้วย

12.มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ ฉีดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

13.วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สามารถป้องกันเชื้อไข้เลือดออกได้กี่สายพันธุ์
ตอบ DENGVAXIA เป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ซีโรไทป์ 1, 2, 3 และ 4 สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 – 45 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

14.การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกฉีดอย่างไร
ตอบ ฉีดวัคซีน DENGVAXIA เข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ฉีดวัคซีน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มล. โดยฉีดห่างกันครั้งละ 6 เดือน เริ่มวันที่ฉีดครั้งแรกเป็นเข็มแรก เข็มที่สองจะฉีดหลังเข็มแรก 6 เดือน และเข็มที่สามจะฉีดหลังเข็มที่สอง 6 เดือน

15.ความปลอดภัยของวัคซีน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ตอบ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังการฉีดวัคซีนคล้ายวัคซีนชนิดอื่น เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มีไข้ต่ำๆ ผิวหนังแดง ห้อเลือด บวม และ คัน โดยอาการที่พบทั้งหมดจะเป็นชนิดไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังจากฉีดวัคซีน

16.ภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อใด
ตอบ ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นเต็มที่เมื่อฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม

17.ฉีดแล้วจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ตลอดชีวิตหรือไม่
ตอบ จนถึงขณะนี้หลังฉีดครบ 3 เข็ม ตามหลักวิชาภูมิคุ้มกันน่าจะยังคงอยู่ได้นาน ต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถคุ้มกันได้ตลอดชีวิตหรือไม่

18.การฉีดวิคซีนในเด็กกับผู้ใหญ่ แตกต่างกันหรือไม่
ตอบ ไม่แตกต่างกัน ในเกณฑ์อายุระหว่าง 9 – 45 ปี

19.การฉีดเข็มที่ 2หรือ 3 หากไม่ได้ฉีดตรงตามวันที่กำหนด สามารถฉีดได้หรือไม่ หรือต้องเริ่มนับเป็นเข็มที่ 1 ใหม่
ตอบ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สามารถบวกลบได้ 20 วัน

20.สามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่นในวันเดียวกันได้หรือไม่
ตอบ ยังไม่มีการศึกษา เพื่อความปลอดภัยควรมีระยะห่างจากวัคซีนชนิดอื่น ประมาณ 4 สัปดาห์

21.ก่อน และ หลังได้รับวัคซีน ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ตอบ ก่อนได้รับวัคซีนต้องไม่มีไข้ และหลังการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรง หรือ บางส่วนของเชื้อโรคมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการไม่มาก และจะหายไปเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา) มะเร็งปอดคืออะไร มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น adenocarcinoma ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก   อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้นสำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ   สาเหตุของมะเร็งปอด การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน เป็นระยะเวลา 20 […]

GJ E-Magazine เล่มที่ 26

GJ E-Magazine ฉบับที่ 26 (เดือนมกราคม 2567) “โรคที่พบในเด็ก” คลิกที่นี่เพื่ออ่าน   ไฟล์ขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์ : คลิกที่นี่

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบในเด็ก โดย พญ. พิชญา สถิตพัฒนพันธ์ กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ   รู้จักโรคปอดอักเสบ ปอดบวม / ปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ เนื้อปอด หลอดลมฝอย อาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ได้แก่ หายใจแรง หายใจเร็ว หายใจซี่โครงบาน อกบุ๋ม หายใจปีกจมูกบาน กินได้น้อยลง ซึม หลับเยอะกว่าปกติ เหนื่อย แน่นหน้าอก   ไข้หวัด (Common Cold) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน อาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย   การตรวจที่โรงพยาบาล ซักประวัติร่างกาย วัดไข้ วัดอัตราการหายใจ วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ฟังเสียงปอด NasoPharyngeal Swab หาเชื้อไวรัสเจาะจงเมื่อมีการระบาด ส่งตรวจเพิ่มเติม ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด   การรักษา […]

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด โดย พญ.สิริกุล ฐานพงษ์ และพว.วีณา อวยชัย หน่วยสูตินรีเวชกรรม ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ( Intra Uterine Device ) เป็นอุปกรณ์ คุมกำเนิดขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ระยะเวลาของการคุมกำเนิดขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย ชนิดของห่วงอนามัย 1. ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน (hormonal intrauterine device หรือ intrauterine system) มีฮอร์โมน levonorgestrel เคลือบอยู่ ทำให้ผนังมดลูกบางตัว ไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนและเพิ่มความหนาของมูกที่ปากมดลูก นอกจากใช้คุมกำเนิดแล้วยังสามารถใช้รักษาความ ผิดปกติอื่น ได้แก่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนมามาก หลังใส่ห่วงชนิดนี้อาจมีเลือดออกผิดปกติ ในช่วง 3 เดือนแรก จากนั้นปริมาณระดูจะค่อยๆ ลดลงจนเกิดภาวะไม่มีระดูภายใน 1 ปีหลังใส่ ตัวอย่างห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน ได้แก่ Mirena สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี 2. ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง (copper-containing intrauterine device มีสารทองแดงที่ปล่อยออกจากห่วงอนามัย ออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นการอักเสบในโพรงมดลูกและขวางตัวการฝังตัวของตัวอ่อน […]