เคล็ดลับ…เมื่อลูกกินยากช่างเลือก

ปัญหายอดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักพบเจอกันอยู่เสมอ คือ  ปัญหาพฤติกรรมกินยาก และช่างเลือกของลูกรัก โดยเมื่อถึงเวลาอาหารทีไรก็มักขัดแย้งกันบนโต๊ะอาหารทุกที เพราะลูกตั้งหน้าตั้งตาส่ายหน้า
ไม่กินนั่นไม่ชอบนี่ พร้อมกับปฏิเสธอาหารสารพันที่สรรหามาให้ตลอดเวลา ซึ่งไม่เพียงทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดที่จะต้องรบกับลูก แต่ยังเกิดความกังวลใจไปถึงในอนาคต เพราะกลัวว่าพฤติกรรมกินยาก แถมช่างเลือกจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขาดสารอาหาร และมีพัฒนาการที่ไม่ดีไปในที่สุดอีกด้วยค่ะ

ทำความเข้าใจ…ทำไมลูกกินยากนักนะ

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเปิดฉากรบกับลูกเพื่อบังคับให้กินให้ได้ ขอให้ใจเย็น ๆ สักนิด คิดทบทวนกันสักหน่อยก่อน เพราะโดยปกติพฤติกรรมกินยากและช่างเลือกนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กทั่วไปเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปีที่พบได้บ่อยมาก เพราะไม่เพียงลูกจะเริ่มโตขึ้น มีความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทำให้รู้จักปฏิเสธมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกิน แต่ช่วงวัย 1 ปียังเป็นช่วงที่ลูกได้รับอาหารที่มีลักษณะแข็งขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาในการบดเคี้ยวมากขึ้นและนานขึ้น จึงไม่ง่ายเหมือนดูดนมหรืออาหารบดเหลวที่กินได้สะดวกอย่างที่ผ่านมา ทำให้ลูกต้องใช้เวลาปรับตัวปรับใจอยู่มาก ซึ่งในระยะนี้เองจึงทำให้มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความไม่ชอบ ไม่เต็มอกเต็มใจที่จะกิน ส่ายหน้าปฏิเสธ ไม่ชอบไปหมด จนกลายเป็นพฤติกรรมกินยากให้เราได้พบเห็นนั่นเองค่ะ

เรื่องที่อยากรู้…ลูกของคุณเข้าข่ายกินยาก ช่างเลือกไหม?

คุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามเรื่องราวมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจยังไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าลูกจะเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมกินยากและช่างเลือกหรือไม่ ดังนั้น ช่วงเวลาต่อไปจากนี้ขอแนะนำให้ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกดูให้ดี ๆ แล้วล่ะค่ะว่าลูกมี 7 สัญญาณพฤติกรรมการกินเหล่านี้ เกิดขึ้นบ้างหรือไม่

7 สัญญาณพฤติกรรมการกิน Checklist

  • เลือกกินแต่อาหารที่ตัวเองโปรดปราน และต่อให้มีอาหารอย่างอื่นให้เลือกมากแค่ไหนก็ไม่สนใจกิน
  • ชอบกินแต่อาหารที่ซ้ำ ๆ กันทุกวัน และเรียกร้องที่จะกินแต่อาหารชนิดนั้นอย่างเดียว
  • เขี่ยอาหารที่ไม่ชอบออก แม้จะตักอาหารต่าง ๆ ใส่จานกันมากมายสักเพียงไหน ลูกก็คอยแต่จะเขี่ยออกไว้ข้างจานตลอด
  • กินน้อย แม้จะทำอาหารให้ดูน่ากินขนาดไหน ลูกก็กินไม่หมดจาน เพียงกินนิดเดียวก็ทำท่าอิ่มเสียแล้ว
  • กินอาหารช้าเป็นชั่วโมง ลูกจะละเลียดกิน เล็มกินทีละน้อย ๆ เคี้ยวได้ช้ามากจนคุณพ่อคุณแม่กินอิ่มไปนานแล้ว ลูกก็ยังกินไม่หมดจานสักที
  • ชอบอมข้าว หรืออมอาหารค้างไว้ในปากนาน ๆ โดยไม่ยอมเคี้ยวข้าวหรืออาหาร แต่จะอมอยู่อย่างนั้น และไม่ยอมกลืนอาหารลงคอ แม้จะป้อนเพิ่มใหม่ ลูกก็ยังอมเพิ่มมากขึ้นจนเป็นคำโต
  • ชอบกินขนม แต่ไม่ชอบกินผักผลไม้ จึงเลือกกินแต่ขนมของหวาน ของกินจุบกินจิบที่ไม่มีประโยชน์มากกว่าผลไม้ต่าง ๆ ที่สรรหามาให้เสมอ

ข้อควรระวัง !!!

ถ้าลูกคุณมีพฤติกรรมการกินอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นหรือมีพฤติกรรมที่มากกว่า 1 อย่างขึ้นไป อย่าได้ปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องหันมาดูแลลูกเพิ่มขึ้นให้ดีนะคะ พร้อมดูแลเอาใจใส่เรื่องคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาของการขาดสารอาหาร หรือปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาด้วยค่ะ เช่น การมีนิสัยการกินที่ไม่ดี เลือกกินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออื่น ๆ

เมื่อทราบว่าพฤติกรรมกินยาก และช่างเลือกของลูกส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารกันแล้ว ทราบไหมว่าภาวะขาดสารอาหารนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงพัฒนาการของลูกด้วย ส่วนจะมีด้านไหนบ้าง เราไปติดตามกันค่ะ

รู้ทันผลกระทบ 4 ด้าน จากพฤติกรรมกินยาก ช่างเลือก

ด้านที่ 1 ด้านการเรียนรู้

โดยจะทำให้คะแนน Mental Development Index Score ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป

ด้านที่ 2 ด้านสุขภาพ

โดยจะไปเพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วย เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่

ด้านที่ 3 ด้านการเจริญเติบโต

โดยจะทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเตี้ย แคระแกรน ไม่แข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไป

ด้านที่ 4 ด้านโภชนาการ

โดยจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกาย และตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ จึงควรดูแลแก้ไขให้ลูกได้รับโภชนาการที่มีคุณค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไปที่ลูกจะต้องได้รับอาหารเสริม ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กทั่วไปมีความสนใจในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว ทั้งยังมีความสนใจอาหารที่นำมาป้อนด้วย

ดังนั้นช่วงนี้คุณแม่จึงควรจัดเมนูอาหารหลายชนิดให้ครบทั้ง 7 กลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช, ผัก, ผลไม้, น้ำมัน, นม, เนื้อสัตว์ และถั่ว เพื่อให้มั่นใจว่าลูกรักจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองรสชาติหลากหลาย ได้สัมผัสลักษณะอาหารที่แตกต่าง ได้มองเห็นสีสันของอาหารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสายตา ได้รับรู้เรื่องกลิ่นของอาหาร

นอกจากนี้ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นสำรวจกับอาหาร หรือปล่อยให้ลูกได้ป้อนอาหารเข้าปากเองบ้างนะคะ ถึงแม้จะดูเลอะเทอะจนน่าเหนื่อยใจ แต่ก็คุ้มค่ากับผลที่ได้รับ คือ ช่วยให้ลูกรู้สึกอยากกินและสนใจกินได้ค่ะ ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่ก็เพียงค่อย ๆ ปรับลักษณะอาหารไปตามวัย เช่น ทำอาหารบดละเอียดให้กลายเป็นบดหยาบเมื่อลูกเริ่มมีฟันบดเคี้ยว จากนั้นปรุงให้เป็นอาหารอ่อนนิ่ม แล้วค่อยพัฒนาอาหารให้กลายเป็น 3 มื้อแบบผู้ใหญ่เมื่อลูกครบขวบปีแรกขึ้นไปนะคะ พร้อมกับให้ลูกได้ดื่มนมที่มีคุณค่าสารอาหารต่าง ๆ เป็นอาหารมื้อรองควบคู่ไปกับการกินอาหารมื้อหลักด้วย เพื่อช่วยป้องกันภาวะการขาดโภชนาการให้ลูกนั่นเองค่ะ

เทคนิคการปรับพฤติกรรมหนูน้อย

ทราบไหมว่าเราสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ดี หรือการสร้างนิสัยในการกินอาหารที่ดีให้กับลูกอย่างได้ผลมากกว่าใครค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ คือแบบอย่างที่สำคัญของลูก ซึ่งอยากจะเลียนแบบไปเสียทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกินเมื่อทราบว่าคุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญต่อลูกมากมายขนาดนี้แล้ว อย่าได้มองข้ามการส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ไปเชียวนะคะ ดังนี้

  • ไม่ส่งเสริมให้ลูกกินขนมจุบจิบของหวาน หรืออาหารที่มีแต่แป้งและน้ำตาลก่อนอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอิ่มเสียก่อน จนไม่มีความอยากอาหารมื้อหลัก ถ้าอยากให้ลูกกินจริง ๆ ควรเปลี่ยนไปเป็นผลไม้หรือของว่างที่มีประโยชน์ดีกว่าค่ะ
  • ให้ลูกนั่งกินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน โดยพร้อมหน้าทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคนอื่นในบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและกระตุ้นให้ลูกรู้สึกอยากกินเพิ่มขึ้นได้นั่นเอง
  • ไม่บังคับลูกให้เริ่มกินอาหารที่ไม่คุ้นเคย  หรือไม่ชอบ หรือมีกลิ่นฉุน ๆ เช่น ผักที่มีกลิ่นมีเสี้ยนมาก ผลไม้ที่กลิ่นแรง ๆ เนื้อสัตว์ที่กลิ่นคาว เนื้อเหนียว แต่ควรให้อาหารที่กินได้ง่าย เช่น ผักควรเริ่มที่ฟักทองที่มีเนื้อนุ่มเนียน ไม่มีกลิ่นฉุน พร้อมดัดแปลงอาหารต่าง ๆ ให้มีสีสันน่ากิน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ลูกเกิดความรู้สึกอยากกิน เช่น จัดอาหารเป็นหน้าตาของการ์ตูน นางฟ้า หรือตัวสัตว์ต่างๆ ที่ลูกชอบ
  • สร้างความมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร  เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกอยากกิน ไม่ว่าจะเป็นการชวนลูกเข้าครัวไปเด็กผัก ล้างผัก จัดวางจานชามบนโต๊ะ หรือออกความเห็นว่าแต่ละมื้อควรทำอะไรกินดี หรืออื่น ๆ เท่าที่ลูกจะสามารถทำได้ตามวัยของเขานะคะ
  • เลือกภาชนะใส่อาหารที่ดึงดูดความสนใจของลูก ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำลวดลายการ์ตูนที่ลูกโปรดปราน เช่น มิกกี้เม้าส์ คิตตี้แคท หมีพูห์ หรืออื่น ๆ พร้อมกับชวนลูกไปซื้อหาอุปกรณ์การกินให้เป็นของตัวเอง โดยให้ลูกมีโอกาสเลือกได้ตามใจชอบเลยค่ะ
  • สร้างบรรยากาศสนุกสนานน่าสนใจ ชักชวนหรือโน้มน้าวให้ลูกกินด้วยคำพูดดี ๆ ท่าทีสบาย ๆ ไม่เร่งรัด บังคับ ขู่เข็ญ หรืออ้อนวอนให้ลูกกินเป็นอันขาด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกมีความสุข สนุกที่จะกิน ไม่เบื่อที่จะกิน พร้อมสร้างบรรยากาศที่ดีด้วยการชวนคุยถามไถ่ถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกเล่าไปกินไปด้วยก็ดีค่ะ จะยิ่งช่วยให้ลูกรู้สึกเจริญอาหารมากขึ้นนะคะ
  • ชื่นชมเมื่อลูกกินอาหารได้ดี  เมื่อเห็นลูกกินอาหารได้ดี ควรชมเชยอย่างเหมาะสมจริงใจอย่าชมจนดูโอเว่อร์เกินจริงนะคะ เพราะลูกสามารถรับรู้ได้ถึงความไม่จริงใจ ทำให้ไม่เชื่อถือเราได้ แล้วสิ่งที่ควรระวัง คืออย่าสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้ลูกต้องยอมรับ หรือทำตามที่เราต้องการ เช่น โกหก ดุว่า ใช้อารมณ์ลงโทษ หรือบังคับให้ลูกกินให้ได้ดั่งใจที่เราต้องการ เพราะลูกจะยิ่งต่อด้าน และรู้สึกไม่ดีในการกินค่ะ
  • เล่านิทานสนุก ๆ จูงใจให้ลูกอยากกิน  เด็ก ๆ ชอบฟังนิทาน และมักเชื่ออย่างจริงใจในสิ่งที่เล่าเสมอค่ะ เราจึงสามารถจูงใจลูกด้วยการเล่านิทานสนุกที่แฝงคำสอนให้รู้จักกินอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ และมีพฤติกรรมการกินที่ดีได้ด้วยนะคะ

แบบอย่างพ่อแม่สำคัญที่สุด

การเป็นต้นแบบในการกินอาหารที่มีประโยชน์ การมีพฤติกรรมการกินที่ดี ถือเป็นเรื่องสำคัญของการส่งเสริมนิสัยการกินให้ลูกได้เป็นอย่างดี อยากให้ลูกกินผัก ผลไม้ ดื่มนม หรืออาหารอื่นใด เราต้องกินอย่างเต็มใจให้ลูกเห็น พร้อมกับชี้แนะประโยชน์ของอาหารต่าง ๆ ให้ลูกรู้จักกินได้อย่างมีคุณค่าตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

GJ E-Magazine เล่มที่ 27

GJ E-Magazine ฉบับที่ 27 (เดือนเมษายน 2567) “โรคปอดกับการสูบบุหรี่” คลิกที่นี่เพื่ออ่าน   ไฟล์ขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์ : คลิกที่นี่

มะเร็งปอด

มะเร็งปอด นพ.คมน์สิทธิ์ ทองธรรมชาติ (อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา) มะเร็งปอดคืออะไร มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น adenocarcinoma ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก   อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้นสำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ   สาเหตุของมะเร็งปอด การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน เป็นระยะเวลา 20 […]

GJ E-Magazine เล่มที่ 26

GJ E-Magazine ฉบับที่ 26 (เดือนมกราคม 2567) “โรคที่พบในเด็ก” คลิกที่นี่เพื่ออ่าน   ไฟล์ขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์ : คลิกที่นี่

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบในเด็ก โดย พญ. พิชญา สถิตพัฒนพันธ์ กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ   รู้จักโรคปอดอักเสบ ปอดบวม / ปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ เนื้อปอด หลอดลมฝอย อาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ได้แก่ หายใจแรง หายใจเร็ว หายใจซี่โครงบาน อกบุ๋ม หายใจปีกจมูกบาน กินได้น้อยลง ซึม หลับเยอะกว่าปกติ เหนื่อย แน่นหน้าอก   ไข้หวัด (Common Cold) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน อาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย   การตรวจที่โรงพยาบาล ซักประวัติร่างกาย วัดไข้ วัดอัตราการหายใจ วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ฟังเสียงปอด NasoPharyngeal Swab หาเชื้อไวรัสเจาะจงเมื่อมีการระบาด ส่งตรวจเพิ่มเติม ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด   การรักษา […]